แห่ปลดล็อก “แรงงานต่างชาติ” รับมือสังคมสูงวัย

หลายประเทศทั่วโลกยังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง แม้ผลศึกษาของ “สหประชาชาติ” (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะยังขยายตัวขึ้นแตะ 8,600 ล้านคน ภายในปี 2030

งานวิจัยของ “คอร์น เฟอร์รี่” บริษัทให้คำปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่าสภาวะขาดแคลนแรงงานเป็นหนึ่งเหตุผลที่กระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินงานตามแผนของรัฐบาล โดยตลอดปี 2018 มีความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายในหลายประเทศ ในวาระการเปิดรับแรงงานต่างสัญชาติเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่กำลังเผชิญ

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแรก ๆ ที่ออกนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติ ในฐานะประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดยอนุมัติให้สามารถเปิดรับแรงงานต่างชาติได้ และจะเริ่มออกวีซ่าให้ตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะรับทั้งหมดอยู่ที่ 500,000 คนภายในปี 2025

รัฐสภากำหนดจะรับแรงงานทักษะต่ำสำหรับภาคเกษตรกรรมงานก่อสร้าง การโรงแรม และงานพยาบาล ซึ่งขาดแคลนหนักที่สุดในปัจจุบัน โดยแรงงานต่างชาติจะสามารถขอวีซ่าทำงานได้เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่สามารถนำครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ในญี่ปุ่น

สำหรับแรงงานต่างชาติทักษะสูง ยังจำเป็นต่อญี่ปุ่นเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยวีซ่าประเภทนี้แรงงานต่างชาติจะอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้แบบถาวร พร้อมครอบครัว

“แคนาดา” เป็นอีกประเทศที่ออกนโยบายรับแรงงานต่างชาติ โดยรัฐสภาประกาศเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เตรียมจะเปิดรับผู้อพยพต่างชาติกว่า 1 ล้านคน ภายใต้แผนระหว่างปี 2019-2021 เป็นมาตรการรับผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยตั้งเป้าว่าในปี 2019 จะเริ่มรับผู้อพยพก่อนเป็นจำนวน 330,800 คน

“เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” (WEF) ระบุว่าแรงงานทักษะต่ำโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันเกือบ 50% เป็นแรงงานที่อพยพเข้ามา แคนาดายังประสบปัญหาประชากรสูงอายุตั้งแต่ปี 2014 ที่มีอยู่ราว 6 ล้านคนของประชากร 36.7 ล้านคน ขณะที่ผลการสำรวจระบุด้วยว่า 1 ใน 5 ของชาวแคนาดามักจะคลอดบุตรนอกประเทศ ทำให้อัตราการเกิดในประเทศอยู่ในระดับต่ำ

“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” (ยูเออี) แม้ไม่ได้เผชิญปัญหาผู้สูงอายุเหมือนญี่ปุ่นกับแคนาดา ทั้งปัจจุบันยังมีแรงงานต่างชาติเกิน 50% หรือราว 5 ล้านคน จากประชากร 9.4 ล้านคน แต่รัฐบาลจะเปิดรับแรงงานจากกลุ่มผู้อพยพอีก 60,000 คนปีนี้ โดยภาคการก่อสร้างเป็นเซ็กเตอร์ที่ต้องการมากที่สุดในการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพ “Expo 2020”

รัฐบาลอาบูดาบียังมีเป้าหมายใหญ่คือ การเป็นศูนย์กลาง “การบินโลก” และสนับสนุนการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาแห่งชาติของปี 2019-2020 ดังนั้นเป็นไปได้ที่จะเปิดรับแรงงานอีก 40,000 คนในปี 2020 เพื่อป้อนอุตสาหกรรมก่อสร้างสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับยูโรโซน “เยอรมนี” เป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรป (อียู) ที่พิจารณานโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติเพิ่ม โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.รัฐบาลได้ผ่านร่างกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง อนุมัติให้สามารถเปิดรับแรงงานต่างชาติทักษะสูงจากนอกสมาชิกอียูได้ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานเรื้อรัง

โดยสำนักงานแรงงานของเยอรมนี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีตำแหน่งว่างงานประมาณ 1.2 ล้านตำแหน่ง ตั้งแต่พนักงานขับรถบรรทุก ช่างไม้ พนักงานดูแลผู้สูงอายุ จนไปถึงระดับผู้จัดการ วิศวกร แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ร่างกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองดังกล่าวจะผ่อนปรนให้บริษัทเยอรมันสามารถรับแรงงานทักษะสูงได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่เอื้อกฎให้กับชาติในอียูเท่านั้น ท่ามกลางความกดดันของผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขวิกฤตดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับความเสียหายในระยะยาวจากปัญหาแรงงาน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!