ลดกำลังการผลิต เดิมพันอีกครั้งของ “โอเปก”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ข่าวเรื่องการทำความตกลงกันลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) จับมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะรัสเซีย ซึ่งมีชื่อเรียกกันในเวลานี้ว่า “โอเปกพลัส” รับรู้กันมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ภายใต้ความตกลงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม กลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดีอาระเบีย จะลดกำลังการผลิตลงรวม 800,000 บาร์เรลต่อวัน รัสเซีย จะลดกำลังการผลิตลงอีก 600,000 บาร์เรลต่อวัน โดยกำหนดลดการผลิตลงเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 เป็นต้นไป

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แทนที่ราคาน้ำมันดิบโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเหมือนทุกครั้งกลับลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่าปี เพิ่งจะขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (ดับเบิลยูทีไอ) ขยับอยู่ที่ 48.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น 2.98 ดอลลาร์

หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ถึงเวลาราคาน้ำมันดิบขาขึ้นแล้วหรือ

แต่นักวิเคราะห์ในแวดวงน้ำมันโลกกลับไม่คิดอย่างนั้น เช่น ทีมวิเคราะห์ตลาดน้ำมันและก๊าซ ของเจพี มอร์แกน ยืนยันว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป ตราบใดที่โอเปกพลัส ไม่ลดกำลังการผลิตลงเกินกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และไม่ยืดเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปเป็น 1 ปีเต็มเป็นอย่างน้อย

ไรอัน แลนซ์ ซีอีโอของโคโนโคฟิลลิปส์ เชื่อว่า ตลาดน้ำมันจะยังคงผันผวน ตอบสนองต่อระดับการลงทุนเท่านั้นเอง

เหตุผลก็เพราะโอเปกพลัสกำลังเผชิญปัญหาท้าทายใหญ่พร้อมกัน

ปัญหาแรกของโอเปกคือการคาดหวังว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอลง อาจหนักหนาสาหัสถึงระดับถดถอยด้วยซ้ำไป

ความกังวลนี้สร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมันสูงมาก เพราะภายใต้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดีมานด์น้ำมันมีแต่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน โอเปกยังเผชิญกับความท้าทายจากสหรัฐ ที่เวลานี้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมัน (เชลล์ออยล์) ได้เฉลี่ยแล้ว 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มานับตั้งแต่ปี 2008 และ 60% ของปริมาณทั้งหมดที่ผลิตได้ หรือ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถูกส่งเป็นสินค้าออก

ในช่วงเวลาเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงสุดเพียงแค่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับเท่านั้นเอง

ปริมาณผลผลิตน้ำมันใหม่ที่ถูกส่งเข้าสู่ตลาดจากสหรัฐ สร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับโอเปก จำกัดทางเลือกให้เหลือเพียง 2 ทาง คือ ปรับลดกำลังการผลิตของตนเองลง เพื่อดึงให้ระดับราคาอยู่ในระดับที่สมดุล แต่แลกกับการต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดไป กับอีกทางก็คือ หันมาใช้วิธีการป้องกันการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดของตนด้วยการรักษาระดับการผลิตเอาไว้

โอเปก เคยเลือกทางที่ 2 เมื่อปี 2014 หวังว่าเมื่อระดับราคาลดต่ำลงจะส่งผลให้ผู้ผลิตเชลล์ออยล์ที่ต้นทุนสูงกว่าเลิกราออกจากตลาด ซึ่งผิดมหันต์ เพราะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงสู่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนต้องจับมือกับรัสเซีย จึงสามารถดึงราคากลับมาได้

นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า ถึงแม้ว่าในปี 2017 ที่ผ่านมา ผลผลิตน้ำมันของโอเปกจะสูงถึง 42.6 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตน้ำมันทั้งหมดในตลาด เมื่อบวกกับผลผลิตของรัสเซีย โอเปกพลัสก็ยังคงมีส่วนแบ่งอยู่สูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งโลก แต่ผลผลิตน้ำมันจากสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ ก็จะทำให้โอเปกไม่สามารถควบคุมระดับราคาน้ำมันในตลาดได้ตามใจเหมือนอย่างที่ผ่านมาแล้ว

เท่าที่ทำได้ก็คือ การปรับลดกำลังการผลิต เพื่อดึงให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นสู่ระดับที่เหมาะสมเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น และในเวลาเดียวกันก็ต้องประเมินอยู่ตลอดเวลาด้วยว่า การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวต่อเนื่องออกไปอีกนานเท่าใดกันแน่ เพื่อที่จะหลังจากนั้นจะสามารถกลับมาควบคุมราคาได้เต็มที่อีกครั้ง

แต่หากมองทิศทางพลังงานในอนาคต ที่มีแนวโน้มการใช้พลังงานน้ำมันลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่กลายเป็นกระแสหลักของผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลก

ระยะเวลาการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของโอเปกยิ่งนับวันยิ่งเหลือน้อยลงเต็มทีแล้ว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!