หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญาณว่าจะนัดหารือร่วมกับ “คิม จอง อึน” ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 จากการหารือรอบแรกที่สิงคโปร์
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ขณะนี้มี 3 เมืองอันดับต้น ที่หนึ่งใน 3 เมืองที่จะรับบทเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ได้แก่ “กรุงเทพฯ” ประเทศไทย “ฮานอย” ของเวียดนาม และ “ฮาวาย” ของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนว่า การหารือระหว่างสองผู้นำจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะที่วอชิงตันโพสต์ระบุโดยอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบขาวว่า เป็นไปได้ที่จะจัดการประชุมภายในเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคมนี้
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า หากมีการจัดประชุมซัมมิตที่ “ฮานอย” อาจจะเป็นการส่งสัญญาณในทางผิดกับเกาหลีเหนือ เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่ต่างกันตรงที่ผู้นำคิม ระวังอย่างมากที่จะเปิดรับทุนจากต่างประเทศ เพราะไม่ต้องการให้มาคานอำนาจของตน ขณะที่เวียดนามกลับเปิดรับทุนต่างชาติสูงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วน “ฮาวาย” ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีมากนัก แม้ว่าจะติดโผเป็นตัวเต็งของซัมมิตดังกล่าว เนื่องจากฮาวายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐ เท่ากับอยู่ในอาณาเขตของสหรัฐ ทั้งยังไม่มีสถานทูตเกาหลีเหนือ ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับเลือกจึงเป็นไปได้ยากที่สุด
สำหรับ “กรุงเทพฯ” ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีโอกาสที่จะถูกเลือกสูง เพราะด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐ และเกาหลีเหนือ ไทยทำได้ดี ซึ่งเกาหลีเหนือสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเตรียมความพร้อมได้ล่วงหน้า คล้ายกับกรณีของสิงคโปร์ สถานที่จัดเวทีซัมมิตครั้งแรกไทยยังเคยติดเป็น 1 ใน 5 ตัวเลือกอันดับต้น ๆ ตั้งแต่ในรอบแรกของการประชุมทรัมป์-คิม ขณะเดียวกันสื่อนานาประเทศยกย่องให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความสะดวกสบายในการเดินทางมากเมืองหนึ่งของโลก สะดวกสบาย ทันสมัย และราคาไม่แพง
หากไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพเวทีการประชุมระดับโลกของ 2 ผู้นำ ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของโลกเท่านั้น ยังสะท้อนได้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีระบบความปลอดภัยสูงและน่าเชื่อถือ อันจะนำมาสู่รายได้ที่เกิดจากการประชุมครั้งนี้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลลงทุนไปทั้งหมด 20 ล้านดอลลาร์ แต่เม็ดเงินที่ได้กลับมามากถึง 700 ล้านดอลลาร์
ที่สำคัญจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น เป็นปัจจัยหนุนทั้งด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!