ผลวิจัยชี้สังคม “ไร้เงินสด” ทิ้งคนหลายล้านไว้ข้างหลัง

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

ในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายประเทศต่างมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการเข้าสู่ดิจิทัลเต็มตัว หนึ่งในนั้นก็คือการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ cashless society โดยข้อดีที่มักยกมาสนับสนุนก็อย่างเช่น อาชญากรรมจะน้อยลง เพราะถ้าถือเงินสด ก็ง่ายที่จะถูกปล้นหรือขโมย นอกจากนี้จะตัดหนทางพวกทำผิดกฎหมาย เช่น พวกค้ายาเสพติดที่ค้าขายด้วยเงินสด ตลอดจนทำให้ยากต่อการเลี่ยงภาษีและฟอกเงินอีกด้วย เพราะการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีการบันทึกข้อมูลทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของสังคมไร้เงินสดก็มีไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจอาจลืมมอง อย่างเช่น ผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ของ “แอ็กเซส แคช รีวิว” ในอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทำหน้าที่สำรวจว่าในอนาคตระหว่าง 5-15 ปีข้างหน้า ชาวอังกฤษยังต้องการใช้เงินสดหรือไม่

ผลการวิจัยดังกล่าวซึ่งสำรวจจากประชาชน 2,000 ราย และองค์กรการกุศลต่าง ๆ พบว่า หากอังกฤษยังคงเดินหน้าอย่างมืดบอดไปสู่สังคมไร้เงินสด จะทำให้ชาวอังกฤษหลายล้านคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไร้ทางเลือกเกี่ยวกับวิธีจ่ายเงิน ส่งผลให้การดำรงชีวิตลำบาก โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะถูกทิ้งให้ลำบาก ประกอบด้วย 1.ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบทซึ่งระบบอินเทอร์เน็ตไม่มีประสิทธิภาพอาจไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการได้ 2.คนยากจนที่ต้องพึ่งพาเงินสดเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจัดสรรการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม 3.ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการข่มขู่ของคนอื่นอาจหมดอิสรภาพทางการเงิน เพราะไม่สามารถใช้เงินสดได้ 4.กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพกายและจิต ที่มีความลำบากในการใช้บริการดิจิทัล

นาตาลี คีนีย์ แห่ง “แอ็กเซส แคช รีวิว” ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวอังกฤษประมาณ 25 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศยังคงใช้เงินสด พร้อมกับเตือนว่า ชาวอังกฤษยังไม่พร้อมจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัว นอกจากนี้อาจทำให้เศรษฐกิจชะงักได้หากเกิดความล้มเหลวขั้นร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการถูกโจมตีทางไซเบอร์หรือแม้แต่ระบบไอทีล่ม

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง การใช้เงินสดที่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหากระทั่งบางรัฐต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนให้มีทางเลือกในการจ่ายเงิน เช่น รัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ร้านค้าบังคับลูกค้าจ่ายเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

แต่สำหรับบางประเทศในยุโรป เช่น “สวีเดน” ถือว่าไปไกลมากในการเป็นสังคมไร้เงินสด โดยพบว่ามีชาวสวีเดนเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ใช้เงินสด ขณะที่ 20% บอกว่าพวกเขาไม่เคยถอนเงินสดเลย เท่านั้นยังไม่พอ มีการทดลองฝังชิปไว้ใต้ผิวหนังของประชาชนประมาณ 4,000 คน เพื่อจ่ายค่ารถไฟ

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจจากฝ่ายที่คัดค้านสังคมไร้เงินสด ก็คือข้อห่วงใยที่ว่า จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยเฉพาะคนจนที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จะลำบากมากในสังคมไร้เงินสด เพราะพวกเขาไม่มีอุปกรณ์แพง ๆ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือจ่ายเงิน หรือบางคนที่ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ก็ไม่มีช่องทางรับเงินจากผู้ซื้อหรือแม้กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

การจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังนำไปสู่การใช้จ่ายมากเกินไปหรือเกินตัว เพราะการรูดบัตร แตะบัตร ทำให้เราไม่ตระหนักว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ต่างจากการใช้เงินสดที่ทุกดอลลาร์ที่จ่ายไปจะเตือนเราทุกครั้งถึงหยาดเหงื่อที่ต้องแลกมา

เบรตต์ สกอตต์ อดีตโบรกเกอร์ค้าอนุพันธ์และผู้รอบรู้ระบบการเงิน ระบุว่า ธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตในโลกตะวันตก ผลักดันอย่างหนักให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล แรงจูงใจหลักก็คือผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง การปิดสาขา ลดจำนวนเครื่องเอทีเอ็มลง ส่วนหนึ่งก็เพื่อบีบให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกหรือมีน้อยลง สุดท้ายต้องยอมไปใช้บริการดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!