สหรัฐจี้อียูบอยคอตหัวเว่ย หลังโปแลนด์จับตัวฝ่ายไอทีของหัวเว่ย ฐานจารกรรมให้ทางการจีน

REUTERS/Tyrone Siu/File Photo

เมื่อวันที่ 13 มกราคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หลังกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของจีน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจับกุมนาง เมิ่ง หวั่นโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) บุตรีของเจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัท ที่ประเทศแคนาดา ตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกาเพราะพบหลักฐานดำเนินการเพื่อเอื้อให้เกิดการขายเทคโนโลยีระดับสูงให้กับอิหร่าน ซึ่งเป็นการละเมิดการแซงก์ชั่นจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวจีนของหัวเว่ยประจำสำนักงานหัวเว่ยโปแลนด์ก็ถูกจับกุมพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีชาวโปลอีกราย ฐานสมคบกันกระทำจารกรรมให้กับทางการจีน ทำให้สหรัฐอเมริกา ออกมาเรียกร้องต่อบรรดาชาติในยุโรปทั้งหมดเมื่อวันที่ 12 มกราคมนี้ให้ร่วมมือกันบอยคอตการทำธุรกิจกับหัวเว่ย แม้ว่า ทางบริษัทจะออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า ได้ไล่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวออกจากบริษัทแล้ว และยืนกรานว่าการกระทำใดๆ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รายนั้นถูกสงสัยว่าทำจารกรรมให้กับทางการจีนนั้น เป็นพฤติกรรมส่วนตัว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนโยบายของบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หลายประเทศในยุโรปแสดงท่าทีตอบรับการเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีอีกหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาประเทศที่ยังไม่ได้รับผลกระทบหรือมีหลักฐานบ่งชี้ว่าหัวเว่ยมีเจตนาทำจารกรรมความลับในประเทศเหล่านั้น แม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่าง ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย จะประกาศแบนบริษัทหัวเว่ยไม่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเครือข่าย 5จี ในประเทศตามการเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม

นาย เกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษ ออกมายอมรับว่า ทางกระทรวงฯเป็นกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการที่หัวเว่ยเข้ามารับผิดชอบในการพัฒนาเครือข่ายไร้สาย 5จีของประเทศ ในขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ของสาธารณรัฐเช็ก เปิดเผยข้อมูลว่ากฎหมายของจีน บังคับให้บริษัทเอกชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่าอยู่ในจีนให้ความร่วมมือกับสำนักงานข่าวกรองของทางการ ซึ่งทำให้ตัวบริษัทเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติหากเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับหัวใจสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ เช่นเดียวกับ นอร์เวย์ ซึ่งใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นส่วนใหญ่ในระบบเครือข่ายไร้สายของตน ซึ่งรัฐมนตรีกิจการโทรคมนาคมและการขนส่งออกมายอมรับว่าพยายามหาทางที่จะลดความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการแทรกแซงจากประเทศซึ่งนอร์เวย์ “ไม่มีความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกันอยู่” ซึ่งมีนัยชัดเจนถึงจีนนั่นเอง

ด้านโปรตุเกส ซึ่งเพิ่งลงนามในสัญญาให้หัวเว่ยพัฒนาเครือข่าย 5จี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทำนองเดียวกับเยอรมนี ที่มีรายงานว่าถูกสหรัฐกดดันอย่างหนักให้แบนหัวเว่ยด้วยนั้น สำนักงานที่รับผิดชอบด้านไอทีของเยอรมนียังคงยืนยันว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหัวเว่ยใช้อุปกรณ์ของตนเพื่อทำจารกรรมให้จีนแต่อย่างใด

นายเด็กซ์เตอร์ ทีเลียน นักวิเคราะห์ของ ฟิทช์ โซลูชั่น ชี้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศในยุโรปยังลังเล เป็นเพราะศักยภาพเทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ยยังคงชวนดึงดูดใจ เพราะพัฒนาไปก้าวหน้ากว่า เทคโนโลยีของอีริคสันจากสวีเดน, โนเกียของฟินแลนด์ หรือแม้กระทั่งของซัมซุง จากเกาหลีใต้ นอกจากนั้นภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังยอมรับว่าหัวเว่ยมีนวัตกรรมสูงกว่าและดีกว่าในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี ถึงแม้ว่าราคาสูงกว่ามากก็ตาม แต่คุณภาพเหนือกว่ามากเช่นกัน โอเปอเรเตอร์บางรายตัดสินใจไม่ใช้หัวเว่ยในบางประเทศที่อ่อนไหวแต่ยังเลือกใช้ในอีกบางประเทศอีกด้วย

 

ที่มา  มติชนออนไลน์