อียูแนะ “หยุดเบร็กซิต” หลัง “เทเรซา เมย์” แพ้โหวตในสภา

โดย นงนุช สิงหเดชะ

แพ้ไปอย่างขาดลอยสำหรับแผนเบร็กซิต หรือแผนการนำสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่

ผลลัพธ์คือสภาล่างโหวตไม่เห็นด้วย ด้วยคะแนน 432 ต่อ 202 หรือห่างกันถึง 230 เสียง นับเป็นการแพ้มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ เป็นการพ่ายแพ้หลังจากผู้นำหญิงอังกฤษได้เลื่อนการนำแผนเบร็กซิตเข้าโหวตในสภามาแล้วครั้งหนึ่ง จากเดิมที่ต้องนำเข้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ครั้งนั้นหยั่งเสียงแล้วไม่น่าจะผ่าน เสี่ยงต่ออนาคตทางการเมือง มีเดิมพันสูง จึงยกเลิกกะทันหัน

สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ ส.ส.คว่ำแผนเบร็กซิตของนางเมย์ ยังคงเป็นประเด็นเดิมคือ เห็นว่าอังกฤษยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายอย่างของอียู และลดอิทธิพลอังกฤษลง การพ่ายแพ้ทำให้การเมืองอังกฤษตกอยู่ในสุญญากาศต่อไปอีก ซึ่งนักวิเคราะห์คาดหมายว่าหลังจากนี้ผลลัพธ์จะออกมาหลายทาง เช่น นางเมย์เดินหน้าผลักดันแผนต่อไปเพื่อให้ผ่านสภาหรือไม่ก็จัดให้มีการลงประชามติรอบที่ 2 ว่าจะออกหรือไม่ออกจากอียู

สำหรับนางเมย์เองยังไม่ยอมแพ้ โดยเธอระบุว่าจะแถลงต่อสภาอีกรอบ พร้อมกับนำเสนอแผน 2 หรือแพลน B

แต่นักวิเคราะห์ไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะถึงแม้นางเมย์จะเสนอแผน 2 โดยอ้างว่าจะขอให้อียูยินยอมต่อเสียงเรียกร้องของอังกฤษมากขึ้น แต่การที่เธอพ่ายในสภาอย่างหนัก อาจทำให้อียูไม่เห็นความจำเป็นที่จะแก้ไขข้อตกลงใด ๆ

ความพ่ายแพ้เป็นโอกาสให้ผู้นำฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนางเมย์ในวันถัดมา อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามคาดนั่นคือนางเมย์รอดพ้นไปได้ เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ยังสนับสนุนให้เธออยู่ในตำแหน่งด้วยคะแนน 325 ต่อ 306 ขณะที่นายเจเรมี คอร์บีน หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ขู่ว่าจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก ส่วนผู้นำหญิงยังคงยืนกรานว่าจะทำตามประชามติชาวอังกฤษนั่นคือ นำอังกฤษออกจากอียู โดยหลังจากนี้เธอจะเปิดให้นักการเมืองจากทุกพรรคพบปะเป็นการส่วนตัวเพื่อหารือถึงทางเลือก

พอล เดลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ชี้ว่า การพ่ายแพ้ครั้งนี้กลับจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเพราะหมายถึงว่าแผนของนางเมย์ตายสนิท

ทางด้าน แอนดรูว์ อโดนิส สมาชิกพรรคแรงงานและอดีตรัฐมนตรีขนส่งอังกฤษเชื่อว่า แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดหลังจากนี้คือการจัดทำประชามติใหม่ เพราะเป็นทางเลือกที่อิงกับความเป็นจริงมากที่สุดในยามที่รัฐสภามีความแตกแยกกันมากอย่างที่เป็นอยู่ โดยเชื่อว่าหากจัดทำประชามติใหม่ชาวอังกฤษจะโหวตอย่างท่วมท้นให้คงอยู่ในอียู

สำหรับปฏิกิริยาจากอียูนั้น นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรปแนะนำว่า บรรดา ส.ส.อังกฤษควรยกเลิกการตัดสินใจที่จะออกจากอียู เพราะเป็นหนทางดี ๆ เพียงหนทางเดียวที่เหลืออยู่บนโต๊ะ

“ถ้าเห็นว่าดีลนี้เป็นไปไม่ได้ และก็ไม่มีใครต้องการออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง ถ้าเช่นนั้นแล้วใครจะมีความกล้าหาญที่จะบอกว่าหนทางแก้ปัญหาเดียวที่เหลืออยู่คืออะไร”

ทางด้าน นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยังยืนกรานเช่นเดิมว่าอียูจะไม่ปรับแก้ข้อตกลงใด ๆ กับอังกฤษอีก พร้อมกับระบุว่าขณะนี้อังกฤษเข้าใกล้ภาวะ “การถอนตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ” ทั้งนี้ ศาลสหภาพยุโรปมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนที่แล้วว่าอังกฤษสามารถยกเลิกการตัดสินใจออกจากสมาชิกอียูได้โดยลำพัง

เจมี ไดมอนด์ ประธานบริหารเจพี มอร์แกน เชสชี้ว่า อังกฤษจะหายนะแน่หากออกจากอียูแบบ hard Brexit ซึ่งหมายถึงการที่อังกฤษไม่สามารถเข้าถึงตลาดเดียวของยุโรป และไม่สามารถร่วมอยู่ในระบบศุลกากรยุโรป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!