วิกฤต “ชัตดาวน์” สะท้อนภาพสังคม “มะกัน”

สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาระดับวิกฤตย่อม ๆ ต่อเนื่องมา 5 สัปดาห์ เมื่อร่างกฎหมายงบประมาณสำหรับหน่วยงานส่วนหนึ่งไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จากความขัดแย้งหลักที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผูกงบประมาณก่อสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เข้าไปในร่างกฎหมายนี้ด้วย ทำให้ ส.ส.เดโมแครต ไม่ยอมลงมติผ่านร่างดังกล่าว

ชัตดาวน์ครั้งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใน 10 หน่วยงาน รวมแล้วราว 800,000 คน ต้องตกอยู่ในสภาพถูก “พักงาน” ชั่วคราว หรือทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ

ผลกระทบชัดเจนเห็นได้จากการปิดทำการของหน่วยงาน เช่น วนอุทยานและแหล่งท่องเที่ยวของรัฐต่าง ๆ หรือผู้ใช้บริการที่ต้องรอคิวยาวเหยียด เพราะพนักงานประจำลดจำนวนลง

แต่ยังมีผลกระทบอีกมากที่คนทั่วไปมองไม่เห็นแต่สำคัญยิ่งกว่า เพราะกระทบต่อธุรกิจ เช่น การให้บริการแบบจำกัดของสำนักงานสรรพากรอเมริกัน (ไออาร์เอส) ที่ส่งผลถึงการขอกู้เงินของธุรกิจขนาดย่อม การจำกัดบริการของคณะกรรมการกำกับและบริหารหลักทรัพย์ (เอสอีซี) กระทบต่อการเสนอขายหุ้นใหม่ (ไอพีโอ) ให้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ไปจนถึงการที่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สามารถขออนุญาตจำหน่ายได้ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบปิดทำการ

ทีมงานเศรษฐกิจประเมินว่า ในแต่ละสัปดาห์ที่มีการชัตดาวน์ จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหายไป 0.13 เปอร์เซ็นเทจพอยต์ ซึ่งหมายความว่า 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทำให้จีดีพีของประเทศหายไปแล้วกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์

ถ้าต่อเนื่องเป็น 6 สัปดาห์ ซึ่งมีเค้าว่าเป็นไปได้สูง มูลค่าความเสียหายจะเกินกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่างบประมาณ 5,700 ล้านดอลลาร์ที่ทรัมป์ขอทำกำแพงเสียอีก

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ถ้ายืดเยื้อนานมาก ๆ ชัตดาวน์ก็สามารถส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ผู้บริโภค และภาคธุรกิจได้ความเสียหายที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องของความเสี่ยงของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะขาดการกำกับดูแลที่ทั่วถึงจากหน่วยงานรัฐ เพราะเรื่องนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงขนานใหญ่ว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ กับการกำกับดูแลนั้น ควรมีหรือไม่มีมากน้อยแค่ไหนถึงจะดี

ฝ่ายรีพับลิกัน ยึดถือแนวทางที่ว่ารัฐบาลควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจและตลาดให้น้อยที่สุด ขณะที่เดโมแครตมีแนวโน้มที่จะออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลมากกว่า

REUTERS/Jonathan Ernst/File Photo

มิเชล ลูอิส นักเขียนนักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของหนังสือ “เดอะ ฟิฟท์ ริสก์” ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีหน่วยงานของรัฐไว้อย่างละเอียดในหนังสือเล่มนี้ โดยสรุปก็คือ ในทางหนึ่งหน่วยงานของรัฐบาลสามารถเป็นตัวขับเคลื่อน ริเริ่ม และบุกเบิกนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ที่กลายเป็นพื้นฐานของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เอกชนอาจไม่สามารถเริ่มได้ตามลำพัง

ยกตัวอย่างว่า ถ้าไม่มีการก่อตั้งสำนักงานเพื่อโครงการวิจัยก้าวหน้าด้านกลาโหม หรือ “ดาร์ปา” ในปี 1957 อาจจะยังไม่มีอินเทอร์เน็ต, จีพีเอส กับเทคโนโลยีใหม่มากมาย ซึ่งล้วนเริ่มต้นจากดาร์ปาทั้งสิ้น

แต่หากไม่มีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เหมาะสม ไม่มีหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจและความเสียหายส่วนบุคคลก็อาจเกิดขึ้นมากกว่านี้ ตัวอย่างที่ชัดคือ สถานการณ์วิกฤตทางการเงินที่เลห์แมน บราเธอร์ส ที่ส่งผลเสียหายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก

ข้อเท็จจริงก็คือ ในระยะหลังมานี้คนอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า หน่วยงานของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ไว้วางใจต่อภาคเอกชน “กัลลัพโพล” เคยสำรวจเมื่อปี 2011 พบว่าคนอเมริกัน 50% รู้สึกว่าสังคมอเมริกันมีกฎระเบียบ “เกินไป” แต่ผลสำรวจใหม่ในปลายปี 2018 สัดส่วนของคนที่เห็นเช่นนี้ลดลงเหลือเพียง 39% เท่านั้น เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

ขณะที่สัดส่วนของคนที่เห็นว่ากฎระเบียบ “กำลังสมดุลดี” กลับสูงขึ้น สวนทางกับทรรศนะของทรัมป์ ที่เห็นว่า หน่วยงานรัฐเป็นอุปสรรค ไร้ประสิทธิภาพ และอวดอ้างความสำเร็จในการสั่งยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ ว่าเป็นความสำเร็จของตน

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจของ “คาโตโพล” พบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่า กฎเกณฑ์ข้อบังคับช่วยให้องค์กรธุรกิจดำเนินไปตามความต้องการของประชาชน แสดงว่าในความเป็นจริงคนอเมริกันไม่ต้องการให้ลดกฎระเบียบ

แต่ไม่ได้ต้องการแค่กฎระเบียบเท่านั้น แต่ยังต้องการกฎระเบียบที่ดีขึ้นกว่าเดิม และการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมเท่านั้นเอง