Splinternet เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตแยก 2 ขั้ว

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

แผน Made in China 2025 หรือ Industry 4.0 อันเป็นยุทธศาสตร์ของจีนในการปฏิรูปเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ หวาดกลัวความรุดหน้าด้านเทคโนโลยีของจีนจนต้องเปิดศึกการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งได้สร้างความหวาดหวั่นว่าการค้าโลกจะหมุนกลับไปยังจุดเดิม คือถอยห่างจากโลกาภิวัตน์แล้วกลับไปสู่การกีดกันการค้า

หากสรุปอย่างย่อ ๆ แผน Made in China 2025 ของจีนก็คือพิมพ์เขียวของรัฐบาลจีนที่มีจุดมุ่งหมายจะเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีของโลกในหลายด้าน ด้วยเหตุนั้นจะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาดำเนินการหลายอย่างเพื่อสกัดกั้นจีนทั้งโดยตรงและผ่านประเทศพันธมิตร เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไม่ยอมให้บริษัทหัวเว่ยของจีนเข้าร่วมวางโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5 จี

การบาดหมางกันของสองยักษ์ใหญ่โลก ไม่เพียงสั่นสะเทือนรูปโฉมโลกแห่งการค้าโดยรวม หากแต่สั่นสะเทือนไปถึงรูปโฉมของอินเทอร์เน็ตโลกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญและผู้เฝ้าสังเกตการณ์เริ่มมีการถกเถียงกันถึง “แนวโน้ม” ในอนาคตของอินเทอร์เน็ตโลกว่าจะเป็นอย่างไร ล่าสุดประเด็นนี้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในงานประชุมสภาธุรกิจระดับโลก “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ไคฟู ลี ประธานบริหารของไซโนเวชั่น เวนเจอร์ส ทำนายว่า ใน 5 ปีข้างหน้าโลกจะพบกับปรากฏการณ์ “อินเทอร์เน็ตแยกเป็น 2 ขั้ว” หรือที่เรียกว่า splinternet ซึ่งมาจากคำว่า split (แยก) รวมกับคำว่า internet โดยขั้วหนึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา อีกขั้วนำโดยจีน ทั้งนี้ ถึงแม้ splinternet จะยังไม่มีคำนิยามที่ลงตัวเป็นเอกฉันท์ แต่มีบางคนชี้ว่าเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะเห็นแอปพลิเคชั่นและบริการต่าง ๆ ของทั้งจีนและอเมริกาครอบครองอินเทอร์เน็ตโลกฝ่ายละครึ่ง

ซีอีโอของไซโนเวชั่น เวนเจอร์สระบุว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตแยกเป็น 2 สายเช่นนี้ ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือก็จะเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตไปตามขั้วใครขั้วมัน เช่น อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีแนวโน้มจะเลือกใช้บริการแอปพลิเคชั่นของจีน ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ก็จะไม่ใช้แอปพลิเคชั่นของจีน แต่จะใช้ของอเมริกา

“ถ้าหากคุณมองไปที่ประชาชนทั้งโลกที่มีโทรศัพท์มือถือแล้วนับว่าพวกเขาใช้แอปพลิเคชั่นของจีนเท่าไหร่ ของอเมริกาเท่าไหร่ ผมว่าตัวเลขอาจจะอยู่ที่ 50/50” ไคฟู ลี ระบุ

อันที่จริงบริษัทใหญ่ ๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา เทนเซนต์ ต่างเร่งขยายบริการไปต่างประเทศ ทั้งการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนในบริษัททั่วเอเชีย เช่น อาลีบาบา เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า” เทนเซนต์ลงทุนแอปพลิเคชั่น “โก-เจ็ก” ในอินโดนีเซีย ที่ให้บริการคล้าย “แกร็บ” ตั้งแต่บริการเรียกยานพาหนะ รับส่งของ ส่งอาหาร รับจองตั๋วและอีกสารพัด

ไม่เพียง ไคฟู ลี เท่านั้นที่ทำนายถึงปรากฏการณ์โลกอินเทอร์เน็ตที่แยกเป็นสายอเมริกาและสายจีน แต่มีอีกหลายคน เช่น เอริก ชมิดท์ อดีตประธานบริหารของกูเกิลก็เคยทำนายเอาไว้แบบเดียวกันนั่นคือ โลกอินเทอร์เน็ตในอนาคตจะมีจีนกับอเมริกาเป็นผู้นำ

ทั้งจีนและสหรัฐไม่ได้แข่งกันแค่เรื่องอินเทอร์เน็ต แต่ยังแข่งกันทุกด้านเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีสำคัญยิ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและกำหนดรูปโฉมของอินเทอร์เน็ตในอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสหรัฐอาจตามหลังหรือไล่ไม่ทันจีนในเรื่อง AI

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัจจุบันถึงแม้สหรัฐจะแข็งแกร่งกว่าในแง่การวิจัย AI แต่จีนเคลื่อนตัวได้เร็วกว่าในแง่การลงมือปฏิบัตินำ AI มาใช้ จีนมีข้อมูลมากกว่า มีการใช้งาน AI มากกว่า เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริม AI ดังนั้น หากมองจากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปได้ที่จีนจะแซงสหรัฐภายใน 5 ปีในเรื่อง AI