เงื่อนปมความขัดแย้งใหม่ ว่าที่ “ประธานเวิลด์แบงก์”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ตกเป็นเป้าโจมตีให้ปฏิรูปมานาน นักเคลื่อนไหวมักหยิบยกเรื่องอื้อฉาวสารพัด รวมถึงปัญหาการดำเนินการในหลายประเทศที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสภาพแวดล้อมถึงกับยืนยันว่า โครงการที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนทางการเงินและอื่น ๆ นั้น มักลงเอยด้วยการทำลาย ทำให้ประเทศยากจน หรือผู้รับความช่วยเหลือ ตกอยู่ในสถานะเลวร้ายกว่าเดิม

ถ้าวัดจากเสียงวิจารณ์เหล่านั้น การที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เลือกนักวิพากษ์เวิลด์แบงก์ตัวยงอย่าง “เดวิด มัลแพสส์” ให้ดำรงตำแหน่งประธานคนใหม่ ก็น่าจะเข้าท่าเห็นร่วมกับฝ่ายที่เรียกร้องให้ปฏิรูปเวิลด์แบงก์ได้เป็นอย่างดีเอาเข้าจริงกลับมีเสียงแตกเกี่ยวกับนายมัลแพสส์ออกเป็น 2 ฝ่าย

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อนายมัลแพสส์ ตั้งคำถามว่าควรหรือไม่ที่จะให้บุคคลเช่นนี้ดำรงตำแหน่งสูงสุด และกุมนโยบายในสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น เดวิด เพรด ผู้นำองค์การการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมระหว่างประเทศ เคยกล่าวหาเวิลด์แบงก์ว่า ใช้กรรมวิธี “ไม่โปร่งใส” ในการสนับสนุนทางการเงินต่อกลุ่มพลังงานถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย กลับยิ่งแสดงความกังขาต่อตัวเลือกที่ทรัมป์เสนอขึ้นมา

“ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของมัลแพสส์ต่อธนาคารโลกที่ผ่านมา บางครั้งฟังดูมีเหตุผล แต่พฤติกรรมความประมาทเลินเล่อ เคยกลายเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการเงินโลก ในปี 2008 ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในคนท้าย ๆ ที่ควรได้รับความเชื่อใจให้บริหารธนาคารโลกให้มีการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบ”

เพราะในอดีต มัลแพสส์เคยเป็นหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารเพื่อการลงทุนแบร์สเติร์น ซึ่งล้มละลายกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ระดับโลก แต่บางครั้งก็ช่วยให้เกิดแรงหนุนด้วยเช่นเดียวกัน

บทบรรณาธิการของวอลล์สตรีต เจอร์นัล ซึ่งมัลแพสส์เคยเป็นคอลัมนิสต์ประจำอยู่ ชักธงเชียร์อย่างออกหน้าออกตาระบุว่า มัลแพสส์เป็นตัวเลือกที่ “ดีที่สุด” ที่จะบริหารสถาบันการเงินที่ “มัลแพสส์เข้าใจดียิ่ง”

นิตยสารอีโคโนมิสต์ก็มองว่า มัลแพสส์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม น่าจะทำให้พันธมิตรของทรัมป์ “ถอนหายใจโล่งอก” เพราะมัลแพสส์เป็นเพียงไม่กี่คนที่ “เป็นผู้ใหญ่” ภายในฝ่ายบริหารของทรัมป์ และมองว่าแนวทางปฏิรูปเวิลด์แบงก์ของมัลแพสส์ “ไม่อาจโต้แย้ง”

คนที่ค้านสุดโต่ง คือ ดับเบิลยู. กีเดอ มัวร์ อดีตรัฐมนตรีกิจการสาธารณะแห่งไลบีเรีย ระบุว่าการแต่งตั้งมัลแพสส์เป็น “นักวางเพลิงติดนิสัย แก้ไขไม่ได้” ที่กำลังจะขึ้นเป็น “หัวหน้าทีมดับเพลิง”

มัวร์เห็นตรงกับวอลล์สตรีต เจอร์นัล ว่าข้อวิพากษ์ส่วนใหญ่ของมัลแพสส์ เน้นไปที่การต่อต้านอิทธิพลของ “จีน” ซึ่งเป็นชาติที่ “มั่งคั่ง” แล้ว

แต่มัวร์กลับเห็นต่างว่า การที่มัลแพสส์ต่อต้านจีน ไม่เพียงเข้ากันไม่ได้ กับแนวทางดำเนินงานของเวิลด์แบงก์ ยังส่งผลเสียให้เกิดขึ้นตามมาอีก

มัวร์ชี้ว่า เวิลด์แบงก์ปล่อยกู้ให้กับจีนเพื่อผลตอบแทน ซึ่งจะนำกลับมาเป็นกองทุนสำหรับช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งในเวลานี้กระจุกตัวกันอยู่ในแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ เขากล่าวด้วยว่า มัลแพสส์ค้าน แต่ก็ไม่ได้แสดงแนวคิดที่เป็นทางเลือกใหม่แต่อย่างใด

ยังมีประเด็นขัดแย้งในเรื่องหลักการเลือกตัวประธานเวิลด์แบงก์ ซึ่งแม้ไม่มีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นที่รู้กันว่า สหรัฐ คือ ผู้ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนี้ ในขณะที่ยินยอมให้ยุโรปเลือกคนของตนเองมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

แต่ตอนนี้ชักมีคนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดตายตัวเช่นนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศอย่างจีน ซึ่งแน่นอนกำลังมีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มประเทศโลกที่ 3

การลงมติของคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของธนาคารโลก เพื่อรับรองประธานคนใหม่ในเดือนมีนาคมนี้ จึงน่าจับตามองมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา