ทริปเยือน 3 ชาติเอเชีย เข็มทิศลงทุนใหม่ “ซาอุฯ”

คดีฆาตกรรม “จามาล คาชอกกี้” คอลัมนิสต์ฝีปากกล้าแห่งวอชิงตันโพสต์เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวทางของ “ซาอุดีอาระเบีย” เปลี่ยนไป โดยพยายามลดระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปลง ขณะที่ทริปเยือน 3 ชาติเอเชีย ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย และจีน ระหว่างวันที่ 17-22 ก.พ. แสดงจุดยืนใหม่ที่ชัดเจนในการเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนของชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง

เดอะวอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า การเยือนเอเชียของ “เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน” มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย จากกำหนดการเดิมที่จะเยือน 5 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เจ้าชายได้เปลี่ยนแผนกะทันหัน โดยยกเลิกการเยือนอินโดนีเซีย และมาเลเซีย อย่างไม่ระบุสาเหตุที่ชัดเจน

“เอลิซาเบธ ดิกคินสัน” นักวิเคราะห์อาวุโสด้านคาบสมุทรอาหรับ จากกลุ่มวิกฤตการณ์นานาชาติ (International Crisis Group) ในเบลเยียม กล่าวว่า การเยือน 3 ประเทศเอเชีย พร้อมแผนขยายการลงทุน แสดงถึงจุดเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์เพื่อบรรเทาการถูกโดดเดี่ยวจากชาติตะวันตกและยุโรป

โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ดเลือกที่จะเยือน “ปากีสถาน” เป็นชาติแรก เพราะ ปากีสถานเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นและในการประชุม “การริเริ่มเพื่อการลงทุนแห่งอนาคต” (FII) ที่กรุงริยาด เมื่อเดือน ต.ค. 2018 นายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน แห่งปากีสถาน เป็นคนแรก ๆ ที่ตอบรับจะเข้าร่วมงาน ท่ามกลางแรงกดดันมากมายจากนานาประเทศ

ทั้งนี้ เจ้าชายซาอุฯเซ็นสัญญาตกลงจะลงทุนในปากีสถานในเฟสแรก มูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยมุ่งที่โครงการก่อสร้างโรงกลั่นมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ ในเขตกวาดาร์ ซึ่งจีนได้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกไว้ ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน หรือ CPEC เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นอกจากนี้ ซาอุฯจะลงทุนในพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในปากีสถาน

สำหรับ “อินเดีย” ประเทศที่ 2 ที่เจ้าชายซาอุฯเยือน ซึ่งในปี 2018 ชาวอินเดียกว่า 2.7 ล้านคน ทำงานในซาอุฯ เป็นแรงงานชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดในซาอุฯ ขณะที่อินเดียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเบอร์ต้น ๆ ของซาอุฯ โดยแต่ละปีซาอุฯจะส่งออกน้ำมันดิบไปอินเดีย ราว 20% ของยอดส่งออกน้ำมันทั้งหมด

เจ้าชายซาอุฯต้องการเข้ามาลงทุนในกองทุนการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน (NIIF) หนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของนเรนทรา โมดี และคาดว่าจะเจรจาโควตาน้ำมันกับนายกฯโมดี หลังจากที่เมื่อปี 2018 อินเดียได้ตกลงนำเข้าน้ำมันจาก “อิหร่าน” เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันความสัมพันธ์อินเดีย-ตะวันออกกลางในนิวเดลี มองว่า หากรัฐบาลโมดีสามารถเจรจาเพิ่มโควตาแรงงานชาวอินเดียในซาอุฯได้ตามเป้า คือ เกือบ 1 เท่าจากระดับปัจจุบัน จะส่งผลบวกต่อคะแนนความนิยม

ในช่วงการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.นี้เจ้าชายซาอุฯปิดทริปด้วยการเยือน “จีน” ในวันที่ 21-22 ก.พ. โดยจะมุ่งที่ความร่วมมือด้านพลังงาน ปัจจุบันซาอุฯเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันดิบรายใหญ่สุดของจีน ขณะที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดกล่าวว่า โปรเจ็กต์ลงทุนในหลายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลปักกิ่งน่าสนใจ และซาอุฯต้องการลงทุนในเส้นทางขยายอิทธิพลทั่วเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ร่วมกับจีน

นอกจากนี้ คาดว่าซาอุฯจะหารือเรื่องการระดมทุนในรูปสกุลเงินหยวน เพราะเริ่มมีบทบาทในตลาดน้ำมันโลก นายเจิ้ง ฉวน ผู้จัดการทั่วไปของอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า ในกรุงริยาด ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ “Vision 2030” ของซาอุฯ ต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมหาศาลถึงจะบรรลุเป้าหมาย ดังนั้น การระดมทุนในหลากหลายสกุลเงิน จะทำให้ซาอุฯมีช่องทางในการหาเงินทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า ผลกระทบจากที่นานาชาติคว่ำบาตรไม่มาร่วมงานการประชุม FII ปีก่อน ทำให้แผนเจรจาการลงทุนของซาอุฯ กับหลายบริษัทยักษ์ใหญ่พังทลาย โดยประเมินว่าเม็ดเงินที่สูญหายน่าจะหลายหมื่นล้านดอลลาร์