จีนเร่ง Greater Bay Area เสริมแกร่ง ศก.หนีพิษ “เทรดวอร์”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เปิดเผยโรดแมปในการเพิ่มความเชื่อมโยงฮ่องกงและมาเก๊าเข้ากับแผ่นดินใหญ่มากขึ้นไปอีก ภายใต้แผน Greater Bay Area หรือจีบีเอ ทั้งนี้ โรดแมปดังกล่าวมีความยาว 11 หน้า ระบุให้ 11 เมืองภายใต้แผนจีบีเอต้องเพิ่มความร่วมมือกันมากขึ้นภายในปี ค.ศ. 2022 ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา และการรักษาระบบนิเวศ โดยกำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2035 Greater Bay Area จะต้องพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเป็นหลัก

สำหรับแผน Greater Bay Area ของรัฐบาลจีน เป็นการเชื่อมโยง 11 เมืองบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ที่อยู่ห่างจากฮ่องกงประมาณ 2 ชั่วโมงเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย ฮ่องกง มาเก๊า กว่างโจว เสิ่นเจิ้น จูไห่ ตงกวน หุยโจว จงซาน ฝอซาน จ้าวชิง และเจียงเหมิน ในจำนวนนี้กว่างโจว เสิ่นเจิ้น ฮ่องกง และมาเก๊า ถูกระบุให้เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบริเวณใกล้เคียงให้เติบโต

เฉพาะฮ่องกงนั้นรัฐบาลจีนกำหนดให้มีสถานะเป็นศูนย์กลางการเงิน การคมนาคมขนส่ง และการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เป็นเมืองที่ทำธุรกรรมเงินหยวนออฟชอร์, บริหารจัดการสินทรัพย์และความเสี่ยง ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางกฎหมายระหว่างประเทศ และระงับข้อพิพาทต่าง ๆ

การที่จีนส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางกฎหมายและศูนย์กลางการระงับข้อพิพาท ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติว่าจะได้รับความเป็นธรรมหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เนื่องจากฮ่องกงปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีกระบวนการยุติธรรมและศาลที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่สามารถทำให้ต่างชาติมั่นใจในเรื่องนี้ได้

ส่วนมาเก๊าถูกจัดวางให้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวและสันทนาการโลก ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมกับประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกส ขณะที่กว่างโจวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ อุตสาหกรรมนานาชาติ ส่วนเสิ่นเจิ้นเป็นแหล่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ไอชา เลา นักธุรกิจฮ่องกงและหุ้นส่วนบริษัทเคพีเอ็มจีในจีนชี้ว่า จีนต้องพึ่งพาโครงการ Greater Bay Area ค่อนข้างมากเมื่อดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้มีความเสี่ยงที่จีนจะถูกโดดเดี่ยวจากโลก ดังนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องยนต์มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โครงการนี้จึงถือว่าดีเลิศสำหรับจีนในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศเพื่อนำตัวเองเข้าไปอยู่ในเวทีโลก

เฉิน กวงฮั่น อาจารย์มหาวิทยาลัยซุน ยัตเซน ในกว่างโจวให้ความเห็นว่า โครงการนี้อาจเผชิญปัญหาหลายอย่างเพราะแต่ละเมืองมีข้อแตกต่างด้านระบบกฎหมายและภาษี ดังนั้น ยังมองไม่ออกว่าจะทำให้ทุกเมืองภายใต้โครงการนี้เชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้อย่างไร

Greater Bay Area ครอบคลุมพื้นที่ 55,904 ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันประมาณ 70 ล้านคน ขนาดจีดีพี 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นความใฝ่ฝันของจีนที่จะพัฒนาให้กลุ่มเมืองดังกล่าวเติบโตเทียบชั้นกลุ่มเมืองรอบมหานครโลก ไม่ว่าจะเป็น San Francisco Bay Area, New York Metropolitan Area ของอเมริกา และ Greater Tokyo Area ของญี่ปุ่น

โครงการดังกล่าวของจีนสะท้อนให้เห็นความทะเยอทะยานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และสอดคล้องกับแผน Made in China 2025 ที่มีเป้าหมายจะเป็นยักษ์ใหญ่การผลิตที่แข็งแกร่งภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต กระนั้นก็ตาม Greater Bay Area ยังต้องเดินทางอีกไกล เนื่องจากภาคบริการของมันมีสัดส่วนต่อจีดีพีน้อยกว่า 70% ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก และโตเกียว

Bay Area ของจีนถูกเอ่ยถึงครั้งแรกในพิมพ์เขียวความริเริ่ม One Belt, One Road หรือโครงการสายไหมศตวรรษที่ 21 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว นับจากนั้นชื่อนี้ก็ถูกกล่าวขานกันมากในประชาคมธุรกิจของจีนและที่อื่น ๆ