เมื่อ “เงินหยวน” ผูกโยงกับสงครามการค้า

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีความเชื่อฝังใจว่า ค่าเงินหยวนของจีนถูกบิดเบือนให้ค่าเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้สินค้าส่งออกของจีนมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหรัฐทำให้เรื่องค่าเงินหยวน ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันบนโต๊ะต่อรองเพื่อหาข้อตกลงทางการค้าจากที่ประเด็นนี้ไม่เคยเจรจากันมาเลย

จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทรัมป์ทวีตข้อความว่า สหรัฐบรรลุข้อตกลงในประเด็นค่าเงินหยวนได้แล้ว ต่อด้วยการเปิดเผยของแลร์รี คัดโลว์ ที่ระบุว่า ร่างความตกลงทางการค้า จะห้ามไม่ให้มีการบิดเบือนค่าเงินและผูกมัดให้ทางการปักกิ่ง “รายงานการแทรกแซงค่าเงิน (หยวน) ในตลาด” ในแต่ละครั้งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินต่างงงกันไปเป็นแถว เพราะเกิดคำถามว่า ค่าเงินหยวนถูกกดไว้ให้ต่ำจริงหรือ ? แล้วสหรัฐได้อะไรจากครั้งนี้ ?

เงินหยวน หรือเหรินเหมินปี้ (อาร์เอ็มบี) ไม่ได้ถูกปล่อยให้ลอยตัวเป็นอิสระ แต่อยู่ในระบบ “แมเนจโฟลตซิสเต็ม” คือ ธนาคารประชาชนจีน (พีบีโอซี) จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงกับค่าเงินดอลลาร์ แล้วปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวขึ้น-ลงจากอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดังได้ไม่เกิน 2%

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์ปรับตัวอยู่ระหว่าง 6.2 หยวน จนถึง 6.8 หยวนต่อดอลลาร์ ถือเป็นระดับแข็งค่าสูงสุดของเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเดิมแบบกำหนดตายตัว

ก่อนหน้านั้น อยู่ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์ปี 2017 เงินหยวนแข็งค่าขึ้น 6.3% แต่เมื่อปีก่อนกลับอ่อนค่าลง 5.7% อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งนักสังเกตการณ์เชื่อว่าทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าจีนบิดเบือนค่าหยวนกลับมาเป็นที่สนใจกันอีกครั้ง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกว่าเงินหยวนไม่ได้ถูกกดให้มูลค่าต่ำกว่าที่เป็นจริง รายงานของไอเอ็มเอฟเมื่อเดือน ก.ค.ปีก่อน ระบุไว้ชัดว่า ค่าเงินหยวน “โดยรวมมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับตะกร้าเงิน…และสอดคล้องกับพื้นฐาน” ทางเศรษฐกิจของประเทศ

กระทรวงการคลังสหรัฐเองระบุเสมอในรายงานประจำปีที่จัดทำปีละ 2 ครั้ง ยอมรับว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน

ครั้งสุดท้ายที่จีนเข้าแทรกแซงค่าเงิน ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง คือเมื่อเดือน ส.ค. 2015 ที่ทำให้หยวนอ่อนค่าลงราว 5% ในช่วงสัปดาห์เดียว

ผลพวงที่เกิดขึ้นก็คือ เงินทุนไหลออกจากจีนเป็นการใหญ่ ยิ่งบีบให้ค่าเงินหยวนลดต่ำลงไปอีก รวม ๆ เม็ดเงินที่ไหลออกในปี 2016 แล้วร่วม ๆ 650,000 ล้านดอลลาร์

ในระหว่างปี 2015-2016 พีบีโอซีแทรกแซงตลาดเงินเป็นว่าเล่น แต่เป็นไปเพื่อยับยั้งไม่ให้หยวนอ่อนค่าลงอีก ไม่ได้ทำให้อ่อนค่าลง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับค่าเงินหยวนเมื่อปี 2018 นักวิเคราะห์บอกว่าไม่ได้เกิดจากการแทรกแซงของพีบีโอซี แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอลง ปัญหาสงครามการค้าและสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อมีเค้าลางว่าความตกลงการค้าสหรัฐกับจีนจะบรรลุค่าเงินหยวนดีดตัวขึ้นรวดเดียวเกือบ 3% นับตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.เป็นต้นมา

ประสบการณ์ของจีนในช่วงปี 2015-2016 ทำให้พีบีโอซีควบคุมเงินทุนเข้มงวด พยายามไม่ให้เงินหยวนร่วงลงเร็วและแรง ป้องกันไม่ให้เงินทุนไหลออก และนำเอา counter cyclical factor มาใช้ เพื่อให้เงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น

นักวิชาการบางคนบอกว่า สหรัฐกำลังบีบให้จีนทำในสิ่งที่จีนเองก็ต้องการทำอยู่แล้ว และตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่จีนรับปากกับสหรัฐคือ การทำให้ค่าเงินหยวนมี “เสถียรภาพ” กว่าเดิม

ทำนองเดียวกับกรณีการปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศของจีนตามเงื่อนไขของสหรัฐ เป็นทิศทางที่จีน “ต้องทำ” เพื่อดึงทุนต่างชาติให้กลับมาลงทุนในจีนอีกครั้ง

การบีบให้จีนทำในสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ส่งผลลบทางการเมือง นั่นคือชาวจีนทั้งประเทศมองสหรัฐในทางลบไปหมด

“อดัม โพเซน” นักวิชาการจากสถาบันปีเตอร์สัน อินสติติวต์ ฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อีโคโนมิกส์ เตือนว่า ทรัมป์กำลังจะย้อนใช้ยุทธศาสตร์เมื่อทศวรรษ 50 ใช้พิกัดอัตราภาษีศุลกากรกับอัตราแลกเปลี่ยนมาแก้ปัญหาการค้าสมัยใหม่ เพราะถ้าเริ่มบอกว่า ค่าเงินของจีนอ่อนค่าลงไม่ได้เมื่อใด ความปั่นป่วนวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อนั้น