ผลศึกษาชี้ชัด “สงครามค้า” สหรัฐเป็นฝ่าย “จ่ายบิล” เต็ม ๆ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

มักกล่าวกันว่าเมื่อใครก็ตามดื้อรั้น เตือนแล้วไม่เชื่อ ก็ต้องปล่อยให้เขาผู้นั้นไปเผชิญกับผลลัพธ์ของจริงที่เกิดขึ้นเอาเอง เพื่อสุดท้ายแล้วเขาจะได้เลิกดื้อรั้นและสำนึกได้ว่าคำเตือนนั้นเป็นของจริง กรณีดังกล่าวอาจเทียบเคียงได้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่เป็นฝ่ายเปิดสงครามการค้ากับชาติคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ด้วยการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า อ้างว่าเพื่อลดขาดดุลการค้าและสร้างงานให้คนอเมริกัน

แม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์จะทัดทานว่า การใช้กำแพงภาษีขัดต่อหลักการค้าเสรี และที่สำคัญจะทำให้ผู้บริโภคอเมริกันลำบากจากการที่ราคาสินค้าจะสูงขึ้น แต่ทว่าทรัมป์ก็ไม่ฟัง เมื่อห้ามไม่ฟังบรรดาผู้เชี่ยวชาญก็ทำนายไว้เลยว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งและผลร้ายเริ่มเกิดขึ้นให้เห็น นั่นจึงจะเป็นเวลาที่ทำให้ฝ่ายก่อสงครามคิดได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสหรัฐสาขานิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยสหรัฐ 2 แห่งคือพรินซ์ตันและโคลัมเบีย ได้เปิดเผยผลศึกษาเรื่อง “ผลกระทบจากสงครามการค้าปี 2018 ที่มีต่อราคาสินค้าและสวัสดิการของสหรัฐ” ระบุว่าการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะสร้างภาระต้นทุนให้กับบรรดาบริษัทอเมริกันตลอดจนผู้บริโภคเดือนละ 4.4 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แบ่งเป็นภาระต้นทุนจากภาษีที่เพิ่มขึ้น 3 พันล้านดอลลาร์ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมอีก 1.4 พันล้านดอลลาร์

รายงานระบุว่า ปีที่แล้วบริษัทสหรัฐนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.83 แสนล้านดอลลาร์ ผลของสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับสถานการณ์หลายอย่าง 1) ราคาสินค้าขั้นกลางและปลายเพิ่มขึ้นอย่างมาก 2) เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน 3) ความหลากหลายของสินค้านำเข้าลดลง 4) ผลักภาระภาษีเข้าไปในราคาสินค้านำเข้า โดยพบว่าปีที่แล้วราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1% เกือบครึ่งหนึ่งของอัตราเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยต่อปีของดัชนีราคาผู้ผลิตในช่วงปี 1990-2018

รายงานสรุปว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า จนถึงขณะนี้ภาระการแบกรับตกอยู่กับผู้บริโภคชาวอเมริกันและบริษัทนำเข้า ในขณะที่ยังไม่เห็นผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติที่เป็นผู้ส่งออก หากจะสรุปรายงานนี้ให้เห็นภาพ เป็นที่เข้าใจง่ายด้วยภาษาชาวบ้านก็คือ สงครามครั้งนี้สหรัฐเป็นฝ่าย “จ่ายบิล” เต็ม ๆ แต่ผู้เดียว

รายงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะชะลอตัวลง เพราะมีปัจจัยลบหลายอย่าง เช่น ตลาดเงินที่ผันผวน ตลอดจนนโยบายการค้าของสหรัฐที่ไร้ความแน่นอน

ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะผลการศึกษานี้หรือไม่ ที่ทำให้ในระยะหลังทรัมป์มีท่าทีอ่อนลง ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาสงบศึกการค้าชั่วคราว 90 วันกับจีนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีที่แล้ว หากครบกำหนดแล้วยังตกลงกันไม่ได้อีก ทางทรัมป์ขู่ว่าจะเพิ่มอัตราภาษีสินค้าจากที่เก็บไปแล้ว 10% เป็น 25% แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดแล้วทรัมป์กลับยอมเลื่อนเส้นตายการขึ้นภาษีออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยผู้นำของ 2 ประเทศมีกำหนดจะพบกันอีกครั้งที่สหรัฐปลายเดือนมีนาคมนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวเป็นระยะว่ามีความคืบหน้าที่ดี

โกลด์แมน แซกส์ ประเมินว่าการพบกันของผู้นำจีนและสหรัฐในปลายเดือนมีนาคม มีความเป็นไปได้ 75% ที่ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายจะประกาศข้อตกลงอย่างเป็นทางการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเชื่อว่าในส่วนของสหรัฐจะยังคงภาษีไว้ส่วนหนึ่ง และจะยกเลิกเป็นระยะตามข้อตกลงที่สามารถบรรลุได้ในแต่ละช่วง คาดว่าสหรัฐจะยังคงภาษีเอาไว้บางส่วนไปจนถึงปี 2020

แต่ไม่ว่าข้อตกลงจะออกมาในรูปแบบใด เชื่อว่าจะยังไม่มีการเจาะจงรายละเอียดในหลายประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่ จำเป็นต้องเจรจากันในเชิงเทคนิคต่อไปหลังจากนี้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!