ย้อนรอยปมขัดแย้งเหนือกาลเวลา “อินเดีย – ปากีสถาน”

เรื่อง : มาร์

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่เป็นกระแสที่ทำให้หลายคนบนโลกจับตามมองก็คงหนีไม่พ้น การปะทะกันระหว่างสองชาติที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียรืไว้ในครอบครองด้วยกันทั้งคู่ อย่าง “อินเดีย-ปากีสถาน”  ที่เข้าสู้สภาวะตึงเครียดอีกครั้ง

“เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ได้มีผู้ก่อการร้ายใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย โจมตีขบวนกองกำลังหน่วยพิเศษที่รักษาการณ์อยู่ทางตอนใต้ของแคชเมียร์ ซึ่งเป็นเหตุให้กองกำลังกึ่งทหารของอินเดียเสียชีวิตมากถึง 46 นาย ทำให้อินเดียโต้ตอบด้วยการส่งฝูงบินเข้าไปโจมตีแคมป์ของกลุ่มก่อการร้ายที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตแดนของปากีสถานทางอากาศ ส่งผลให้ปากีสถานได้ตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องบินรบของอินเดียตก 2 ลำ ในเขตพื้นที่แคชเมียร์ พร้อมควบคุมตัวนักบินอินเดียเอาไว้ได้ ทำให้กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุด ที่เกิดขึ้นในแคชเมียร์ในรอบ 30 ปี”

จากสถานะการความขัดแย้งดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปยังอีกหลายประเทศ ภายหลังจากที่ปากีสถานได้ทำการสั่งผิดน่านฟ้าทั้งประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเพราะเครื่องบินพาณิชย์ต่างๆ ไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าของปากีสถานได้ รวมถึงประเทศไทยในเที่ยวบินไปยุโรปที่ต้องผ่านน่าฟ้าของปากีสถานจำเป็นจะต้องถูกระงับเที่ยวบินไปก่อน ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันอินเดียสั่งปิดสนามบินทางเหนือ จนสหรัฐต้องออโรงเตือนทั้งสองชาติขอให้อดทนอดกลั้น และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะบางเบาลงระดับหนึ่งเมื่อนานาชาติ รวมทั้ง สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้คำนึงถึงผลเสียหายร้ายแรงยิ่ง หากสงครามเกิดขึ้นจริงระหว่างอินเดียและปากีสถาน

ปฐมเหตุของความขัดแย้ง

เมื่อถามถึงปมเหตุอันสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวดังกล่าว ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์และศูนย์อินเดียศึกษา อธิบายว่า เมื่อก่อนพื้นที่แถบนั้นไม่ได้เป็นประเทศ แต่ถูกเรียกว่า “อนุทวีปอินเดีย” (Indian subcontinent) จนภายหลังอังฤษได้เข้ามาล่าอาณานิคม และทำให้ดินแดนแห่งนี้เกิดความเป็นชาติที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เห็นความสำคัญของชาติ โดยการแบ่งแยกและปกครอง ทำให้คนในพื้นที่มีทำการแบ่งฝ่ายตามศาสนาที่ตนนับถืออยู่ไม่ว่าจะป็นฮินดู ไม่ว่าจะเป็นซิกส์ หรือมุสลิม

ต่อมาเมื่อปี 1947 อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่ทั้งสองชาติ ซึ่งนำมาสู่การแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองประเทศ คือ ประทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถานตะวันตก – ปากีสถานตะวันออก โดยใช้เกณฑ์ของศาสนาเป็นตัวตั้ง คือประชาชนที่เป็นชาวฮินดูจะอยู่ที่ประเทศอินเดีย ส่วนประชาชนชาวมุสลิมจะอยู่ประเทศปากีสถานตะวันตก หรือ ตะวันออกก็ได้ การแยกประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมเดียวกันในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนเป็นเรือนล้านสับสนวุ่นวาย และก่อให้เกิดการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธอิงศาสนาขึ้นตามมา ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นนายทหารอังกฤษหลายคนที่ไปในรบสงครามโลกครั้งที่สองมา และเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ได้ถูงสั่งให้มาประจำการที่อินเดียในช่วงนั้น ต่างก็เขียนบันทึกว่าเหตุการณ์ในอินเดียครั้งนั้นโหดร้ายกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวของนาซีเยอรมันเสียอีก  

และระหว่างที่มีการแบ่งประเทศก็เกิดปัญหาเพิ่มเติมตามมาคือความไม่ชัดเจนของพื้นที่ ซึ่งแคว้นที่มีปัญหาแคว้นหนึ่งคือแคว้นแคชเมียร์ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ “มหาราชา” นาม “ฮารี ซิงห์” และถือเป็นดินแดนเพียงส่วนเดียวที่อังกฤษไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นของอินเดีย หรือ ปากีสถาน หลังเป็นเอกราชแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแคชเมียร์คือ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม 77% ศาสนาฮินดู 20% และมาหาราชาเป็นชาวฮินดู ตัวมหาราชาจึงตัดสินใจที่จะไม่ขึ้นอยู่กับใดฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งเกิดสถานะการณ์ที่ต้องเลือกจึงตัดสินใจเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับอินเดีย ทำให้ภายในแคว้นเกิดการปลุกปั่นและนำไปสู่การสู้รบเพื่อช่วงชิงแคว้นแคชเมียร์ ของทั้งสองชาติมานับตั้งแต่บัดนั้น

โดยปากีสถานอ้างว่า ตามหลักการแบ่งดินแดนของแผนการเม้าต์แบตเทน แคว้นที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมต้องรวมกับปากีสถาน ดังนั้น แคชเมียร์จึงต้องอยู่กับปากีสถาน หรือไม่ก็จัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ชาวแคชเมียร์เลือกว่าจะอยู่กับฝ่ายใด ส่วนอินเดียก็ถือว่าผู้ปกครองรัฐนี้ได้ตัดสินใจรวมกับอินเดีย และสภาท้องถิ่นของแคชเมียร์ได้ลงมติรวมกับอินเดียเมื่อปี 1954 การรวมแคชเมียร์เข้ากับอินเดียจึงมีความชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องลงประชามติอีก

ถึงแม้ว่า “มหาราชา ฮารี ซิงห์” จะลงนามในความตกลงเพื่อรวมตัวเข้ากับอินเดียแล้วก็ตาม แต่ต่างฝ่ายต่างส่งกำลังทหารเข้าไปยังพื้นที่ของแคว้นแคชเมียร์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งแรกขึ้นในปี 1947 ทำให้ 1 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ ตกอยู่ในความควบคุมของกองทัพปากีสถาน และอีก 2 ใน 3 อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอินเดีย เป็นการตกลงเขตยึดครองกันโดยพฤตินัยหลังจากเกิดสงครามยืดเยื้อกันมานานถึง 2 ปี

ทั้ง 2 ประเทศมีสงครามและการปะทะซึ่งกันและกันเป็นระยะๆ รวมทั้งสงครามใหญ่เมื่อปี 1965 เกิดสงครามครั้งที่สอง และครั้งที่สามในปี 1971  ซึ่งกินเวลา 13 วัน ซึ่งสงครามไม่ได้เป็นเรื่องของแคชเมียร์เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปากีสถานตะวันออก เนื่องจากปากีสถานตะวันออกและตะวันตก เป็นชาวมุสลิมคนละกลุ่มกัน และปากีสถานตะวันออกมักจถูกปากีสถานตะวันตกกดขี่อยู่เสมอ จึงทำให้ “อินทิรา คานธี” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้น ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือปากีสถานตะวันออก ทำให้กองทัพปากีสถานตะวันตกพ่ายแพ้ และปากีสถานตะวันออกก่อตั้งรัฐใหม่ นั่นก็คือบังกลาเทศในปัจจุบัน

ต่อมาในปี 1972 อินเดียและปากีสถานได้มีการทำข้อตกลงโดยขีดเส้นเขตแดนชั่วคราวที่เรียกกันว่า “ไลน์ ออฟ คอนโทรล” ในพื้นที่แคชเมียร์ แม้จะมีการขีดเส้นแบ่งไปแล้ว แต่ความขัดแย้งเรื่องแคชเมียร์ไม่ได้ยุติลง ทั้งสองชาติยังคงคงทหารเอาไว้ต่อไป ด้วยความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตแคชเมียร์ทั้งหมดจะตกเป็นของชาติตน และในปี 1999 ก็เกิดสงครามขนาดย่อมขึ้นอีกครั้งในดินแดนแคชเมียร์ ที่เมืองคาร์กิล รวมไปถึงการปะทะย่อมๆ ระหว่างปากีสถานกับอินเดียในแคชเมียร์ขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วนครั้ง แต่เป็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็ยุติลง

อีกหนึ่งปมใหญ่แห่งความขัดแย้ง

นอกจากปมความขัดแย้งในเรื่องของการปกครองดินแดนแล้ว “ผศ.สุรัตน์” กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดเลยก็คืออินเดียเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าปากีสถานปล่อยให้เกิดการก่อการร้ายข้ามชาติ เพราะ มีการเข้ามาก่อการร้ายในมุมไบ บริเวณโรงแรมและพื้นที่ต่างๆ ของอินเดีย ต่อเนื่องนาน 4 วัน สังหารไม่เลือกหน้าในปี 2008 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 160 คน ซึ่งทางปากีสถานได้ออกมาบอกว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เข้ามาก่อเหตุนั้นไม่ใช่พลเมืองของตน

แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นทางการอินเดียสามารถจับตัวผู้ก่อการร้ายได้ 1 คน และมีการสอบเค้นจนทราบข้อเท็จจริง ส่งผลให้ในปี 2009 ปากีสถานได้ออกมายอมรับว่าคนกลุ่มนั้นคือพลเมืองของตน เพราะฉะนั้นจึงทำให้ปากีสถานถูกอินเดียมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทราบเรื่อง

อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของเรื่องการก่อการร้ายดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อปลายทศวรรษ 1970 สมัยที่สหรัฐอเมริกาได้มีการส่งเสริม “กลุ่มมูจาฮีดีน” ในการปลดแอกอัฟกานิสถานที่โดนสหภาพโซเวียตยึดครอง ซึ่งกลุ่มมูจาฮีดีนเหล่านี้ถูกฝึกโดยซีไอเอและหน่วยงานของทหาร และสถานที่ฝึกอยู่ในพรมแดนปากีสถาน จนในที่สุดสหภาพโซเวียตไม่สามรถครองอัฟกานิสถานได้ และกลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้นได้มีการแตกหน่อออกมาเป็น “กลุ่มตาลีบัน” “กลุ่มแอล-ไคดา” และมีกลุ่มการเมืองและกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มหลายพวก บางพวกต้องการให้แคชเมียร์ส่วนที่เป็นของอินเดียรวมกับปากีสถาน แต่บางพวกไม่ต้องการรวมกับใคร หากแต่ต้องการแยกแคชเมียร์ทั้งส่วนของอินเดียและของปากีสถานไปตั้งเป็นประเทศเอกราช รวมไปถึง “กลุ่มลัชการ์-อี-ตัยยิบา (Lashkar-e-Tayyiba)” ที่เข้าโจมตีเมืองมุมไบในปี 2008 ด้วย

การก่อการร้ายเริ่มทวีความถี่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทวีขึ้นสูงนับตั้งแต่บัดนั้น กลุ่มหนึ่งซึ่งลงมือปฏิบัติการบ่อยครั้งที่สุดในระยะหลัง ก็คือ “จาอิช-อี-โมฮัมเหม็ด” หรือ “เจอีเอ็ม” ก่อตั้งโดยครูสอนศาสนาในปากีสถานชื่อ “มาซูด อัซฮาร์” เมื่อปี 1999 และอินเดียเชื่อว่า เจอีเอ็ม คือกลุ่มที่ลงมือโจมตีฐานทัพอากาศปาธานคอต ใกล้กับชายแดนปากีสถานเมื่อเดือนมกราคมปี 2016 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ 3 นายเสียชีวิต ทั้งยังเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายอีกหลายครั้ง ทั้งในอินเดียและในแคชเมียร์ โดยใช้ชื่อกลุ่มแตกต่างกันออกไป เช่น อัฟซาล กูรู สควอด, อัล-มาราบิทูน และ เทรีกห์-อัล-ฟูร์คาน เป็นต้น

ซึ่งทางรัฐบาลอินเดียได้มีการส่งสารให้ทางปากีสถานในเรื่องนี้มานานแล้วว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้มีแคมป์อยู่ในเขตแดนของปากีสถาน และเข้ามาโจมตีภายในอินเดีย แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไป จนมาเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกครั้งในวันที่ 14 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานะการอันตึงเครีดระหว่างสองประเทศได้มีทีท่าที่จะบางเบาลงในระดับหนึ่ง และปากีสถานได้มีการเปิดน่านฟ้า พร้อมปล่อยตัวนักบินของอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สายการบินต่างๆ สามารถบินผ่านได้ตามปกติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีข่าวการปะทะกันของทั้งสองชาติออกมาเป็นระยะ

ท่ามกลางสายตาของคนทั้งโลกที่เฝ้ามองอยู่ในขณะนี้ ต่างก็หวังว่าความสัมพันธ์อันตึงเครียดที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาตินี้นั้น จะสามารถเคลื่อนไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้นได้ในวันข้างหน้า…