เทรนด์สายงานอาชีพจำเป็นในธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ของประเทศอาเซียน

“Google & Temasek” ได้ออกมาเผยผลการศึกษาข้อมูลในเดือนพ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) หรือ “อาเซียน” คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับในปี 2560 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต” ในอาเซียนในปี 2561 ว่ามีมูลค่าที่ 72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบจากมูลค่าสินค้าขั้นต้น (GMV) ดังนั้น ประเมินได้ว่า มูลค่าการซื้อ-ขายของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นที่ 102 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 6 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การที่จะบรรลุคาดการณ์ของมูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้นั้น “สายงานอาชีพ” ที่เกี่ยวข้องก็เป็นส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน โดยใช้งานอินเทอร์เน็ตจะต้องตระหนักและมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้อย่างเต็มที่

“iPrice” บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลสัญชาติมาเลเซีย ได้จัดทำการศึกษาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์อัตราการจ้างงานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน โดยได้จัดเก็บข้อมูลจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Map of eCommerce ในช่วงไตรมาสที่ 3 ผ่านเว็บไซต์ LinkedIn โดยครอบคลุมทั้งหมด 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ประเทศไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตมากที่สุด

นอกจากนี้ iPrice ยังพบว่า แนวโน้มการจ้างงานของร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในอาเซียน มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงถึง 808 คน ระหว่างไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรม

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ Google & Temasek ที่คาดการณ์ไว้ว่า การจ้างงานกลุ่มสายงานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตต้องเติบโตขึ้นอีก 10% ถึงจะช่วยเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ได้ เมื่อผนวกกับผลการศึกษาข้อมูลของ iPrice จึงสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเป็นสัญญานเชิงบวกสำหรับสายงานดังกล่าว

อัตราการเพิ่มขึ้นของพนักงานในระหว่างปี 2016 – 2018

การเปรียบเทียบอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในอาเซียน

จากข้อมูลการจ้างงานและจำนวนพนักงานในปัจจุบันของ Shopee เพิ่มขึ้นถึง 176% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จาก 1,384 เป็น 3,831 คน (ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ถึง ไตรมาสที่ 3 ปี 2561) หรือเฉลี่ย 3 คนต่อวัน ทำให้ Shopee กลายเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่ที่แซงหน้าร้านค้าเจ้าถิ่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวครั้งใหญ่ของ Shopee เริ่มจากบริษัทแม่ชื่อดังในนามว่า Garena ได้รับเงินระดมทุนก้อนใหญ่ราว 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐช่วงปี 2559-2561 บวกเพิ่มอีก 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์ก (NYSE) ในปี 2560

ทั้งนี้ Lazada ยังคงเป็นร้านค้าที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดถึง 6,659 คน หรือ 34% ของจำนวนพนักงานในร้านค้าอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน จากทั้งหมด 19,549 คนในภูมิภาค

ขณะที่กลุ่มร้านค้ายักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน เช่น Lazada, Tokopedia และ Bukalapak ก็มีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ยังมีร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ อย่าง Zalora ที่มีจำนวนพนักงานลดลงเล็กน้อยจาก 1,859 คน ในปี 2559 เป็น 1,715 คน ในปัจจุบัน

สำหรับสายงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และมีโอกาสที่จะถูกจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ พนักงานฝ่ายปฎิบัติการ (Operations) การตลาด (Marketing) วิศวกรรม (Engineering) และไอที (IT) ประกอบกับการศึกษาข้อมูลทางการตลาดที่พบว่า ความท้าทายที่แท้จริงคือการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงในตำแหน่งต่างๆ เช่น Software Engineering, Digital Marketing, Data Science และ Product Marketing เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้ในธุรกิจดิจิทัลยังไม่มีการสรรหาและว่าจ้างมาก่อน

Operation คือสายงานอาชีพที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุด

ทั้งนี้ Google & Temasek ระบุไว้ด้วยว่า วิธีการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอีคอมเมิร์ซเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขอันดับต้นๆ โดยทางออกที่ดีที่สุด คือ การเริ่มจัดอบรมสายอาชีพเหล่านี้กับคนในประเทศเพื่อเกิดเป็นประสิทธิผลได้ในระยะยาว

ขณะที่ นักวิจัยทางการตลาด กล่าวว่า ทักษะที่ขาดที่สุดในสายงานนี้ คือ กระบวนการคิดแก้ไขปัญหาเชิงกลยุทธ์และเผยแพร่ความรู้ในสายงาน เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาก่อนหน้าส่วนใหญ่จะไม่มีประสบการณ์ทำงานที่บริษัทอีคอมเมิร์ซต้องการโดยตรง ส่วนโปรแกรมฝึกงานระหว่างการศึกษาไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง

วิเคราะห์ข้อมูลโดย iPrice Group