คาด “เฟด” ปรับลดดอกเบี้ย รองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลก

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

บทบาทของกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) เป็นทำนองเดียวกับแบงก์ชาติประเทศอื่นทั่วโลก แต่สหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ผลของนโยบายเฟดจึงไม่เพียงกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น ยังสะเทือนออกไปในระดับนานาชาติอีกด้วย

อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐส่งผลต่อทิศทางการไหลเวียนของเงินทุนในตลาดระหว่างประเทศ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในสหรัฐสูงขึ้น เงินทุนย่อมไหลกลับมายังสหรัฐ ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ และสภาพคล่องของเงินทุนในประเทศต่าง ๆ ด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือ “เฟดฟันด์เรต” จึงถูกจับตามองจากทั่วโลกด้วยเหตุนี้

ขณะที่เฟดต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง เพราะสภาพโลกาภิวัตน์เศรษฐกิจอเมริกันย่อมอิงอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของโลกเช่นกัน

อัตราดอกเบี้ยของเฟด ไม่เพียงสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ยังกระทบถึงสภาวการณ์ของเศรษฐกิจโลก

ที่ผ่านมาเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาหลายครั้ง จนทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมาอยู่ที่ 2.50% กระทั่งการประชุมเมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้หยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงระดับไว้เหมือนเดิม

คำถามในหมู่นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายของประเทศอื่น คือ การประชุมครั้งต่อไป วันที่ 21 มี.ค.นี้ เฟดจะทำอย่างไรกับอัตราดอกเบี้ย

ผู้สันทัดทางการเงินแตกความเห็นเป็น 2 ฝ่าย คือ เชื่อว่าหลังจากระงับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาครั้งหนึ่ง เฟดก็จะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

บิลล์ ดัดลีย์ เคยดำรงตำแหน่งประธานเฟด สาขานิวยอร์ก ยังเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งสหรัฐ หรือเอฟโอเอ็มซี ซึ่งทำหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเฟดมาแล้ว

ดัดลีย์ในปัจจุบันเขียนบทความให้กับ “บลูมเบิร์ก” ระบุไว้เมื่อ 6 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากชะลอช้ามาครั้งหนึ่ง เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เหตุผลของดัดลีย์คือ เศรษฐกิจของสหรัฐยังขยายตัวเร็วผิดปกติในปีนี้ แม้ว่าในไตรมาสแรกปีนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น แต่สาเหตุมาจากปัจจัยอื่น เช่น การชัตดาวน์ในสหรัฐ ความไม่แน่นอนทางการค้า และอัตราการขอคืนภาษีที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมา “ร้อนแรง” จนต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงดังกล่าว

ความเห็นของดัดลีย์สวนทางกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ที่เชื่อว่า ในการประชุมหนหน้า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง นักวิเคราะห์ซึ่งรวมถึง จอห์น เคมป์ คอลัมนิสต์แห่งรอยเตอร์ส คาดการณ์โดยอาศัยข้อมูลสถานการณ์และจากแนวทางของเฟด ที่เคยปฏิบัติมาในอดีต

โดยปกติแล้วเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะถึงจุดพีก ก่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยุติลงตามวัฏจักรขึ้น-ลง และจะเริ่มการปรับลด “ก่อนหน้า” ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมา

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ดัชนีบ่งชี้หลายอย่าง ตั้งแต่ยีลด์เคิร์ฟ ที่ส่อเค้าว่าจะเกิดภาวะอินเวิร์ท หรือดัชนีชี้ภาวะการผลิต (ซัพพลาย แมเนจเมนต์ อินเด็กซ์) บ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังขยายตัวเบาบาง ขณะที่เงินเฟ้อคงที่ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ผ่านมา เอฟโอเอ็มซีมัก “ปรับลดดอกเบี้ย” ทั้งสิ้น

ประเด็นสำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกยามนี้ คล้ายคลึงอย่างยิ่งกับสถานการณ์โลกเมื่อราวกลางปี 1998 ตอนที่วิกฤตต้มยำกุ้งเริ่มระบาดออกไปทั่วโลก

เมื่อย้อนกลับไปดูเฟดในเวลานั้นก็พบว่า อลัน กรีนสแปน ประธานเฟดในเวลานั้น เริ่มส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยลงมาตั้งแต่ 21 ก.ย. 2541 ซึ่งช่วยให้สหรัฐรอดพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ฉิวเฉียดเต็มทีในตอนปลายปีนั้น

จอห์น เคมป์ เองสรุปเอาไว้ในคอลัมน์ของตัวเองเมื่อ 7 มีนาคมว่า ในขณะที่ผู้สันทัดกรณีแตกความเห็นออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มพึ่งพาอาศัยการคาดคำนวณของตัวเองจากข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย

และปักใจเชื่อว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมอีกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง นับตั้งแต่ตอนนั้นไปจนถึงปี 2020

ใครเดาใจเอฟเอ็มโอซีถูกกันแน่ อีกไม่นานรู้กัน !