เปิดสกุลเงิน “เปราะบาง” สุด เจอ “พิษ” เศรษฐกิจจีนแผ่ว

อย่างที่คาดการณ์กันมาตลอดว่าพิษจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยืดเยื้อลากยาวมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว จะส่งผลกระทบชัดเจนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในปีนี้ และในเมื่อสองประเทศยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลกเปิดศึกกัน นอกจากคู่สงครามโดยตรงจะบาดเจ็บแล้ว ทั่วโลกก็ต้องบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะเกาะเกี่ยวผูกพันกับสองชาติยักษ์ใหญ่นี้มากน้อยเพียงใด

ดังที่ทราบกัน การเปิดฉากขึ้นกำแพงภาษีระหว่างสองประเทศ มีผลให้เศรษฐกิจจีนในปีที่แล้วเติบโตเพียง 6.6% ต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี ส่วนปีนี้จีนตั้งเป้าหมายเติบโตระหว่าง 6-6.5% ต่ำสุดในรอบ 29 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือจีนซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าน้อยลง ดังนั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศนั้น ๆ ไปโดยปริยาย ซึ่งบริษัทวิจัยแคปิตอล อีโคโนมิกส์

ได้ออกรายงานล่าสุดระบุว่า มีสกุลเงินใดบ้างที่เปราะบางมากที่สุดต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน พูดอีกอย่างก็คือค่าเงินของประเทศใดจะอ่อนค่ามากที่สุด จากกรณีนี้ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ว่า ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์น่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของทั้งสองประเทศ โดยนิวซีแลนด์ส่งออกไปจีน 24.9% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนออสเตรเลียส่งออก 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศนี้ก็คือ

สินแร่เหล็ก และถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อเศรษฐกิจของจีนในฐานะประเทศผู้นำเข้าสินค้าชนิดนี้มากที่สุดอันดับต้นของโลกชะลอตัวลง ความต้องการสินแร่เหล็กและถ่านหินก็ลดน้อยตามไปด้วย และกดดันให้ราคาต่ำลง ผลก็คือ ประเทศผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง นำไปสู่การอ่อนของค่าเงิน

บริษัทวิจัยดังกล่าวประเมินว่า ค่าเงินของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะอ่อนค่าตลอดปีนี้ มีเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยยกค่าเงินของสองประเทศนี้ได้นั่นก็คือสหรัฐและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ไม่เช่นนั้นแล้วค่าเงินก็จะฟื้นตัวได้เพียงระยะสั้น ขณะเดียวกันประเทศอื่น ๆ ที่ค่าเงินผูกโยงอยู่กับสินค้าโภคภัณฑ์ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเช่นกัน อาทิ ดอลลาร์แคนาดาและรูเบิลของรัสเซีย ที่จะถูกกระทบมาก หากราคาน้ำมันร่วงลงไปติดฟลอร์เพราะหวั่นเกรงว่าจีนจะมีความต้องการน้อยลง

ปีที่แล้วทั้งดอลลาร์แคนาดาและดอลลาร์นิวซีแลนด์ มีผลงานแย่สุดในกลุ่มประเทศจี 10 จากการที่ราคาโภคภัณฑ์ดิ่งลงรุนแรง

ส่วนออสเตรเลียได้รับผลกระทบทั้งจากเศรษฐกิจภายในประเทศเองและจากจีน เพราะการที่ออสเตรเลียแบนอุปกรณ์โทรคมนาคม 5 จีของหัวเว่ย

และซีทีอีตามแรงกดดันของสหรัฐ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการยกเลิกนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย ยังมีสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียที่อ่อนไหวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ไม่ว่าจะเป็นริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์

บริษัทแฟคเซ็ตซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลการเงินและซอฟต์แวร์ในสหรัฐระบุว่า ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากสงครามการค้า คาดว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทต่าง ๆ ที่พึ่งพายอดขายต่างประเทศมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมดลดลง 11.2% ในไตรมาสแรกปีนี้ และลดลงมากกว่ารายได้บริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ 500 บริษัท ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ (เอสแอนด์พี 500) ที่ประเมินว่ารายได้จะลดลงเพียง 3.4% ส่วนบริษัทที่พึ่งพารายได้ในสหรัฐเป็นหลักกลับมีอัตราเติบโต 1%

สก็อตต์ เรน นักกลยุทธ์อาวุโสของธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ให้ความเห็นว่าถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐดูเหมือนจะมีเสถียรภาพ แต่การที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศชะลอตัวลง ในที่สุดแล้วก็จะส่งผลกระทบมาถึงสหรัฐ ขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าโลกในอนาคตยังคงอ่อนแอโดยเฉพาะยุโรป ขณะเดียวกัน ถึงแม้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มจะคงตัว แต่ทว่า ลำพังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนอาจไม่สามารถช่วยยกเศรษฐกิจโลกขึ้นได้