เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส “โบอิ้ง” กำลังสูญเสียตลาดจีน ?

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 737 รุ่น แม็กซ์-8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส สร้างความเสียหายในหลายด้านให้กับ “โบอิ้ง” ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวที่เพิ่งใช้งานในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2017 จะถูกสั่งห้ามบินจากทั่วโลก ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า หลังเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา “จีน” เป็นชาติแรกที่สั่งห้ามเครื่องบินรุ่นนี้ที่ใช้งานเกือบ 50 ลำ เป็นความเคลื่อนไหวที่กดดันให้นานาประเทศต้องดำเนินการตาม หากไม่ต้องการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมหาศาล หากยังทู่ซี้ใช้ต่อไปแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาอีกครั้ง

ยังมีรายงานของรอยเตอร์สระบุว่า เรื่องที่สหรัฐจะผูกโยง “ออร์เดอร์” ของเครื่องบินเจ็ตเข้าไว้ในความตกลงทางการค้าเพื่อยุติสงครามการค้าก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมาหลังจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ว่ากันว่า ในร่างความตกลงที่คืบหน้าไปตามลำดับนั้น มีส่วนหนึ่งระบุว่า จีนจะสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารลอตใหญ่จากสหรัฐกว่า 100 ลำ มูลค่ารวมแล้วมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการบินของรอยเตอร์สบอกด้วยว่า การพ่วงเรื่องนี้เข้าไว้ในร่างความตกลงทางการค้า เกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงปี 2018 ซึ่งเกิดสงครามการค้าระหว่างกันขึ้นนั้น ไม่เพียงทางการจีนจะนำเข้าจากสหรัฐลดลง เอกชนจีนยังไม่สั่งซื้อเครื่องบินจากโบอิ้งเลยแม้แต่ลำเดียวความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบอิ้ง

นักวิเคราะห์ในวงการการบินหลายคน รวมทั้ง “ริชาร์ด อาบูลาเฟีย” ผู้เชี่ยวชาญการบินของทีลกรุ๊ป ระบุว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในตลาดใหญ่ที่สุดของโบอิ้งในอนาคต นั่นคือ ตลาดจีน

โบอิ้งเคยประเมินเอาไว้ว่า จีนมีความต้องการเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 20 ปีข้างหน้า จากการขยายตัวของการเดินทางด้วยเครื่องบินภายใน ทำให้สายการบินจีนต้องการซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 7,700 ลำ ในช่วงระยะเวลา 20 ปี ซึ่งรวมมูลค่าของเครื่องบินพาณิชย์จำนวนหลายพันลำนี้สูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักวิเคราะห์เชื่อว่า โบอิ้งจะสูญเสียมากน้อยแค่ไหนในตลาดจีน ขึ้นอยู่กับจีนว่าจะยอมรับในความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ได้เร็วแค่ไหน ซึ่งรุ่นดังกล่าวมีด้วยกัน 4 รุ่น ตั้งแต่แม็กซ์-7, 8, 9 และ 10 และจีนต้องการจะใช้เหตุการณ์นี้เป็น “เครื่องมือต่อรอง” ในการเจรจาการค้ามากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมาจีนเคยใช้คำสั่งซื้อลอตใหญ่ มูลค่ามหาศาล เพื่อผลทางการทูต เช่น ในระหว่างการเยือนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2017 จีนตกลงที่จะซื้อเครื่องบินโบอิ้งสูงถึง 300 ลำมาแล้วเอาเข้าจริง ภายใต้ความตกลง 300 ลำนั้นมีเงื่อนปมซ่อนอยู่มากมาย ตั้งแต่การรวมเอาออร์เดอร์เก่ามานับด้วย เรื่อยไปจนถึงการเจรจาต่อรองขอสินเชื่อระยะยาวสำหรับคำสั่งซื้อใหม่

อดีตเจ้าหน้าที่ซึ่งเคยเจรจาการค้ากับจีนกล่าวว่า คำสั่งซื้อรอบใหม่ที่ผูกรวมเอาไว้กับการเจรจาการค้าในเวลานี้ คงตกอยู่ในสภาพคล้ายกัน และจีนอาจเล่นแง่ได้มากกว่าด้วยซ้ำไป

ดังนั้น สถานะของโบอิ้งในตลาดจีน ซึ่งเคยสุ่มเสี่ยงอยู่แล้วจากการเกิดสงครามการค้าขึ้นมาก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดความขัดแย้งทางการค้า จีนไม่ได้ยุติการเจรจากับผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของโลกอีกรายอย่าง “แอร์บัส” แต่อย่างใด

ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีฝรั่งเศสเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไม่ถึงสัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ว่า การเจรจาระหว่างแอร์บัสกับจีนที่ดำเนินมายาวนานนั้น ถึงตอนนี้ส่อสัญญาณว่าน่าจะจบดีลกันได้แล้ว

“หยาง อิงเปา” อดีตศาสตราจารย์ด้านการบินของมหาวิทยาลัยนานจิงระบุว่า หากความตกลงทางการค้าที่กำลังเจรจาอยู่นี้กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้จีนไม่สามารถซื้อเครื่องบินโบอิ้งได้อย่างราบรื่นอีกต่อไป ก็จะบังคับกลาย ๆ ให้จีนหันไปหาแอร์บัส เพื่อสนองตอบต่อความต้องการเครื่องบินโดยสารของตนเอง

ซึ่งอาจหมายความว่า ตลาดการบินในจีนที่ล้ำค่าในสายตาของโบอิ้ง อาจหลุดจากมือไปในไม่ช้านี้