สงครามการค้า ในทรรศนะเอกชนญี่ปุ่น

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์สเผยแพร่ผลการสำรวจน่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น การสำรวจดังกล่าวทำร่วมกับสำนักวิจัยนิกเคอิแห่งญี่ปุ่น สำรวจความคิดเห็นของบริษัททั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น รวม 479 บริษัท โดยไม่เปิดเผยชื่อกิจการ

คำถามในแบบสอบถาม มีทั้งประเด็นการค้า และประเด็นทางนโยบายการเงิน โดยมีบริษัทตอบแบบสอบถามมาระหว่าง 230-243 บริษัท ขึ้นอยู่กับประเด็น

ประเด็นคำถามที่น่าสนใจอยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น เพราะในขณะที่ตลาดคาดหวังกันว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะสามารถทำความตกลงกันได้ในเร็ววันนี้

ในมุมมองของนักธุรกิจญี่ปุ่น ถึง 3 ใน 4 กลับเห็นว่า สงครามการค้าระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก จะยังคงยืดเยื้อต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็ถึงสิ้นปีนี้

เมื่อดูลึกลงไปในรายละเอียดนั้น 9 ใน 10 หรือราว 90 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี โดยมีนักธุรกิจอีกกว่าครึ่งหนึ่งที่เห็นว่า ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น และยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนถึงปี 2020 หรืออาจจะนานเกินเลยไปมากกว่านั้น

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ ผลกระทบของสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอยู่ในเวลานี้นั้น ส่งผลสะเทือนต่อกิจการของบริษัทญี่ปุ่นหนักหนาสาหัสทีเดียว หนักถึงขนาดทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นภายใต้นโยบายกระตุ้นของนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ถึงกับทรุด ทั้ง ๆ ที่กำลังจะทำสถิติของประเทศกลายเป็นช่วงเศรษฐกิจบูม ต่อเนื่องกันยาวนานที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่รอมร่ออยู่แล้ว

เหตุผลสำคัญประการแรกก็คือ ทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดใหญ่และสำคัญสูงสุดสำหรับผู้ผลิตเพื่อการส่งออกของญี่ปุ่น ผู้ผลิตในญี่ปุ่นพึ่งพาผู้บริโภคในจีนให้จับจ่ายซื้อสินค้าของตนอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ ซึ่งโรงงานในจีนนำเข้ามาจากญี่ปุ่นเป็นหลัก เพื่อผลิตสินค้าของตนเอง

ในเวลาเดียวกันนั้นด้วยความที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่น เป็นเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับการส่งออก เมื่อสงครามการค้าทำให้การค้าของทั้งโลกชะลอตัวลง ก็ส่งผลสะเทือนสูงต่อชาติเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก

ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ตัวแทนบริษัทธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ได้คาดหวังในทางบวกมากนักต่อคำให้สัมภาษณ์ของ สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ที่บอกไว้เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นว่า ทั้งจีนและสหรัฐกำลังทำงานร่วมกันได้ด้วยดี และพยายามจะบรรลุข้อตกลงให้ได้ “เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ผู้จัดการโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่งตอบไว้ในแบบสอบถามของรอยเตอร์สว่า ในแง่ของการเจรจาว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากร กับประเด็นปัญหาในเรื่องความสมดุลทางการค้านั้น มีความเป็นไปได้ว่าจีนและสหรัฐอเมริกาจะสามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้

“แต่ถ้าต่อรองกันถึงประเด็นขัดแย้งสำคัญว่าด้วยการมีอิทธิพลเหนือกว่า ครอบงำอีกฝ่าย ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาจะยังคงต้องต่อสู้ขัดแย้งกันต่อเนื่องต่อไปอีกนาน 15-25 ปีข้างหน้า”

ผู้จัดการรายเดียวกันระบุก่อนตบท้ายว่า ตอนนี้สิ่งที่นักธุรกิจญี่ปุ่นทำได้ก็คือ ได้แต่คาดหวังและภาวนาว่า ขออย่าให้ความขัดแย้งที่ว่านี้ส่งผลสะเทือนไปทั่ว กลายเป็นต้นเหตุของภาวะถดถอยทั่วโลกขึ้นมาเท่านั้น

ที่น่าสังเกตก็คือ ในการสำรวจแบบเดียวกัน เมื่อเตือนตุลาคมปีที่ผ่านมา มีบริษัทญี่ปุ่นเพียง 1 ใน 3 บริษัทเท่านั้นที่ยอมรับได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ในการสำรวจครั้งนี้ จำนวนบริษัทที่ได้รับผลกระทบสูงขึ้นเป็น 52 เปอร์เซ็นต์แล้ว

“ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งเรากำลังกังวลกันว่าจะส่งผลกระทบจำกัดการเติบโตของเราตามไปด้วย”

ผู้จัดการบริษัทกิจการเคมีภัณฑ์รายหนึ่งระบุ ในขณะที่ผู้จัดการบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลก็ยอมรับว่า ในแวดวงผู้ผลิตจักรกลทำนองเดียวกัน และเคยจัดส่งเครื่องจักรไปจีนก็ระงับการจัดส่ง

ส่วนผู้ผลิตที่มีโรงงานผลิตอยู่ในจีน ก็ยกเลิกแผนการลงทุนใหม่กันเป็นแถวสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เอกชนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นต่อนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลญี่ปุ่นตามไปด้วย จากที่เคยเห็นว่า รัฐบาลควรเริ่มต้นลดนโยบายผ่อนคลายได้แล้วถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ลดลงมาเหลือ 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เพราะคาดว่าความเสียหายจากสงครามการค้าอาจจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้นั่นเอง