ซิลิคอน แวลลีย์ คลายมนต์ขลัง คน Gen-Z พุ่งหาจีน-อินเดีย

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทั้งหมดของเทคโนโลยีโลก บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และร่ำรวยมหาศาล ล้วนมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่ และแน่นอนว่าคนหนุ่มสาวที่ชื่นชอบเทคโนโลยีล้วนใฝ่ฝันอยากทำงานกับบริษัทสักแห่งในซิลิคอน แวลลีย์

อย่างไรก็ตามในระยะเกือบ 10 ปีมานี้ ซิลิคอน แวลลีย์ ขึ้นชื่อเรื่องค่าครองชีพแพงอย่างเหลือเชื่อ ทุกอย่างมีแต่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะที่พักอาศัย ชนิดที่ว่าเงินเดือนเกือบทั้งหมดหลังหักภาษีของผู้ที่ทำงานในซิลิคอนฯต้องหมดไปกับค่าเช่าที่พัก จนแทบไม่เหลือเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ส่งผลให้บรรดามันสมองด้านไอทีต่างค่อย ๆ ย้ายหนีไปทำงานที่อื่น ไม่เพียงย้ายหนีไปเมืองอื่น รัฐอื่นในสหรัฐ แต่บางทีย้ายจากสหรัฐไปเลยก็มี

ผลสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ HackerRank ซึ่งเป็นเว็บไซต์การหาตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยี ที่ได้สำรวจผู้หญิง 12,000 คนใน 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าผู้หญิงรุ่น Z หรือ Generation Z อันหมายถึงผู้ที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ซึ่งเติบโตมาในยุคสื่อสารไร้สาย มีแนวโน้มน้อยกว่าผู้หญิงรุ่นก่อนหน้าของพวกเธอที่จะมองว่า ซิลิคอน แวลลีย์ เป็นอนาคตที่สดใสสำหรับการเริ่มต้นอาชีพด้านเทคโนโลยี

ผู้หญิง Gen Z ทั่วโลกมองว่าเซี่ยงไฮ้ของจีนและบังคาลอร์ของอินเดียจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำของโลกใน 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าผู้ที่ถูกสำรวจทั้ง 2 รุ่น คือรุ่นมิลเลนเนียล (millenials) หรือผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523-2540 และรุ่น Z จะเห็นว่าซิลิคอน แวลลีย์ ยังคงเป็นอันดับ 1 ไปจนถึงปี 2567 ก็ตาม แต่ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าในระยะยาวอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกจะเกิดการย้ายศูนย์กลางอันเนื่องมาจากค่าครองชีพที่แพงของซิลิคอน แวลลีย์

มาเรีย ชุง รองประธาน HackerRank ชี้ว่า ค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงเสียดฟ้าอย่างรวดเร็วของซิลิคอน แวลลีย์ ทำให้ผู้มีความสามารถด้านไอทีและผู้ประกอบการแสวงหาที่ใหม่ ๆ ทั่วสหรัฐเพื่อหนีปัญหานี้ ทำให้เกิดศูนย์กลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น ออสติน บอสตัน ซีแอตเทิล ส่วนนอกสหรัฐก็มีจีนและอินเดีย กำลังทำงานหนักเพื่อดึงดูดการลงทุน

“อินเดียและจีนกำลังเกิดการบูมของผู้ประกอบการเทคโนโลยี กรณีของจีนจะเห็นว่าปีที่แล้วมีเงินลงทุนในสตาร์ตอัพมากกว่าสหรัฐ ส่วนบังคาลอร์กลายเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพใหญ่สุดในอินเดียและใหญ่อันดับ 3 ของโลก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สองประเทศอยู่ในสถานะที่จะเดินหน้าด้านนี้ได้อย่างมั่นคงและดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวกะทิด้านไอที”

HackerRank ระบุว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ Gen Z ที่มีอายุมากสุดจะเริ่มเข้าสู่การทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในเอเชีย เฉพาะในอินเดียนั้น ประชากรมากกว่า 50% มีอายุ 25 ปีหรือน้อยกว่า ดังนั้นอินเดียจึงมีแนวโน้มที่จะมีประชากรวัยทำงานที่อยู่ในกิจการไอทีมากสุดในโลกภายในปี 2566 การผงาดขึ้นของอินเดียและจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดสหรัฐด้วย

San Francisco Bay Area ซึ่งรวมเอาซิลิคอน แวลลีย์ อยู่ด้วยนั้นมีขนจีดีพีสูงถึง 7.81 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่าจีดีพีทั้งประเทศของสวีเดน ซาอุดีอาระเบียและเนเธอร์แลนด์ แต่จีดีพีของ San Francisco Bay Area คงไม่สามารถรักษาขนาดเอาไว้ได้หากปราศจากการหนุนส่งของบุคลากรในอุตสาหกรรมไอที ที่เห็นชัดว่ามีคนสนใจทำงานในบริเวณนี้น้อยลง วัดจากการโพสต์รับสมัครงานตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ลดลง เช่น ระหว่างปี 2559-2560 การประกาศรับสมัครลดลง 18% ในขณะที่ย่านอื่น เช่น ซีแอตเทิลเพิ่มขึ้น 11% บัลติมอร์เพิ่มขึ้น 3-5%

กล่าวสำหรับคน Gen Z ที่เอ่ยถึงข้างต้นนั้น เป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ Gen X (ผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508-2522)

เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เสพติดสื่อออนไลน์ จินตนาการไม่ออกว่าถ้าชีวิตขาดอินเทอร์เน็ตจะอยู่อย่างไร มั่นใจตัวเองสูง แต่อดทนต่ำ เด็กรุ่นนี้ใกล้จบการศึกษา หรือไม่ก็เพิ่งเข้าทำงาน