“เบร็กซิต” นับวันยิ่งตีบตัน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดยข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนการเพื่อการนำอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต มีความคืบหน้าครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพ.ย.2018 อันเป็นช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ บรรลุความตกลงในขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ กับทางคณะผู้เจรจาของอียู ซึ่งในเวลาต่อมาผู้นำอียู 27 ประเทศก็ลงนามรับรองความตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

หลงเหลือเพียงแค่การรับรองจากสภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ซึ่งต้องให้ความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก “ร่าง” ความตกลงดังกล่าวจึงจะดำเนินการได้

นับแต่นั้นจนถึงบัดนี้ กระบวนการเบร็กซิตค้างเติ่งไม่มีความรุดหน้าไปแม้แต่ก้าวเดียว

ความเคลื่อนไหวในสภาสามัญช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงอาการตีบตันของเรื่องนี้ภายใต้กลไกของสภาอังกฤษ พอ ๆ กับที่แสดงให้เห็นถึงการแตกแยกทางความคิดเห็นที่มีต่อเบร็กซิต เป็นความแตกแยกทางความคิดสูงมาก ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับประเด็นใด ๆ ทางการเมืองในสหราชอาณาจักร

ตามที่อียูบัญญัติไว้ ชาติที่ประสงค์พ้นจากสมาชิกภาพต้องดำเนินการทำความตกลงให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ไม่เช่นนั้นถือเป็นการพ้นจากสมาชิกภาพโดยไม่มีความตกลงใด ๆ

แต่กำหนดดังกล่าวผ่านเลยไปเมื่อ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ส่วนที่ประชุมสุดยอดอียูมีมติให้เลื่อนกำหนดเส้นตายดังกล่าวออกไปเป็น 22 พ.ค. โดยมีข้อแม้ว่าอังกฤษต้องบรรลุความตกลงกับสภาสามัญให้ได้ภายใน 12 เม.ย.นี้เท่านั้น

เส้นตายด่านแรกที่รัฐบาลเมย์ต้องฝ่าให้ได้ก็คือ 12 เม.ย. ไม่เช่นนั้นอังกฤษจะถือว่าพ้นสมาชิกโดยไม่มีความตกลง หรือ “โนดีล”

เทเรซา เมย์ ถูกเสียงข้างมากปฏิเสธถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 มี.ค. รัฐบาลอังกฤษพยายามอีกรอบ เมย์ลงทุนใช้อนาคตทางการเมืองของตนเองเป็นเดิมพัน ประกาศจะลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้ผู้นำคนอื่นในพรรคมาทำหน้าที่แทน หากสภายอมผ่านร่างดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล ถูกเสียงส่วนใหญ่ในสภาปฏิเสธออกมาอีกรอบ

สิ่งที่สะท้อนความแตกแยกก็คือ หลังจากรัฐบาลอังกฤษล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก สภาสามัญอาศัยเสียงข้างมากกำหนดให้ที่ประชุมสภาสามารถกำหนดญัตติเป็นแนวทาง “ทางเลือก” อื่น ๆ นอกเหนือจากแนวทางของรัฐบาลอีก 8 ทางเลือก เพื่อนำไปลงมติกันในสภาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. หวังว่าจะมีแนวทางที่ได้รับเสียงข้างมากสนับสนุนในสภาสามัญ

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ทั้ง 8 แนวทางไม่ผ่านเสียงข้างมากเลยแม้แต่แนวทางเดียว

เหลือเชื่อมากที่ว่า ยกเว้นกรณี “โนดีลเบร็กซิต” ที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาอังกฤษเห็นว่าต้องไม่เกิดขึ้น แนวทางเบร็กซิตแทบทุกแนวทาง ตั้งแต่ของรัฐบาล, ของฝ่ายค้าน, แนวทาง “คัสตอมยูเนียน” เลียนแบบนอร์เวย์ที่จะลดทอนความยุ่งยากในระบบและระเบียบศุลกากรลงทั้งหมดเพราะยังคงใช้ของอียูอยู่ต่อไป ฯลฯ ล้วนถูกสภาอังกฤษปฏิเสธไปทั้งหมด

คำถามสำคัญในตอนนี้ก็คือ อังกฤษจะผ่าทางตันเบร็กซิตนี้ได้อย่างไร ในขณะที่หลงเหลือเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์

วันที่ 12 เม.ย. ก็จะมาถึงแล้ว ?

ทางออกมีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ทางหนึ่งนั้น “จอห์น เบอร์คาว” ประธานสภาสามัญ กำหนดดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย. ด้วยการนำเอาญัตติที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด หรือ คิดว่าจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจาก 8 ญัตติเดิมที่ตกไปเมื่อ 29 มี.ค. มาลงมติกันอีกครั้ง เพื่อบีบให้รัฐบาลทำตามมติเสียงข้างมากของสภา

ปัญหาก็คือ ไม่มีอะไรการันตีว่าทุกอย่างจะไม่ออกมาเหมือนเดิมอีกครั้ง แม้แต่ โอลิเวอร์ เลตวิน สมาชิกระดับอาวุโสของพรรครัฐบาลที่เป็นเจ้าของแนวความคิดนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีญัตติไหนได้รับความเห็นชอบ และจะมีเวลาเหลือพอสำหรับการดำเนินการตามมตินั้น ๆ หรือไม่

ญัตติหนึ่งที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด แต่ไม่ได้เสียงข้างมากเมื่อ 29 มี.ค. ก็คือ การลงประชามติรอบใหม่ ที่เรียกว่า “การลงมติเพื่อยืนยัน” ก็เป็นอีกทางที่สามารถใช้ผ่าทางตัน แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า ถ้าผลประชามติออกมาเหมือนเดิมอีกครั้ง จะดำเนินการต่อไปอย่างไร หรือจะวนกลับมาที่เดิมอีกครั้ง และอังกฤษมีเวลาเหลือพอจะทำประชามติก่อนเกิด “โนดีลเบร็กซิต” หรือไม่ ?

สำหรับนายกรัฐมนตรีเมย์อาจทดลองยื่นร่างเดิมเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ก็จะถูกปฏิเสธอีกครั้งเป็นรอบที่ 4 แต่ผลลัพธ์ทางการเมืองครั้งนี้จะร้ายแรงกว่าเดิม เพราะมีเสียงข่มขู่จากทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านเบร็กซิตจากรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจะลาออกหากเมย์ยังดึงดันตามแนวทางนี้ต่อไปจนอาจเกิดการล่าช้า หรืออาจเกิด “โนดีลเบร็กซิต” ตามมาหรือคิดจะประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาถึง 2 ใน 3 ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ในสภาวะเช่นนี้

นั่นทำให้หลงเหลือความเป็นไปได้สูงสุดอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ การพ้นจากอียูโดยไม่มีความตกลงใด ๆ ซึ่งไม่เพียงสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจกับอังกฤษและอียูเท่านั้น ยังสะเทือนไปทั้งโลกอีกด้วย