“อาเบะ” บูมท่องเที่ยวญี่ปุ่น สวนทางยุค “เรวะ”

“ญี่ปุ่น” ประกาศเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ประเทศกำลังเข้าสู่รัชสมัยใหม่ โดยมีชื่อเรียกว่า “เรวะ” (Reiwa) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2019 เป็นต้นไป

การสำรวจโดย “สำนักข่าวเกียวโด” ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าผลโหวตผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นเกือบ 74% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เห็นด้วยกับคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อ “เรวะ” ในรัชสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม คอลัมนิสต์อาวุโสของ “เกียวโด” ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความยินดีและยอมรับชื่อรัชสมัย “เรวะ” เพราะมีความหมายที่สวยงาม บ่งชี้ทิศทางประเทศไปสู่ “สันติสุขและความโชคดี” แต่นโยบายบางอย่างของรัฐบาลในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับ “ภาคการท่องเที่ยว” ดูเหมือนจะสวนทางกับแนวทางในรัชสมัยใหม่ของดินแดนอาทิตย์อุทัย

โดยมีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อชดเชยจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นที่กำลังลดลง และคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาได้ โดยได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 40 ล้านคน ภายในปี 2020 จากปี 2018 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นกว่า 28 ล้านคน

“เป้าหมายนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ในอีก 2 ปีข้างหน้า อาจไม่ไกลเกินเอื้อม แต่แผนการนี้กำลังทำร้ายวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น” คอลัมนิสต์อาวุโสระบุ

ด้าน “ทาคาโอะ อิคาโดะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเสริมว่า หลายเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว เกียวโต โอซากา ฟูจิ และฮอกไกโด กำลังประสบปัญหาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป โดยเรียกปัญหานี้ว่า “kanko kogai” หรือ “มลพิษการท่องเที่ยว” นั่นคือการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐาน

บทความของ “อาซาฮี ชิมบุน” เคยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นตั้งข้อสังเกต โดยอ้างคำของ “มัสซารุ ทาคายามา” ซีอีโอบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต ที่ระบุว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวและเป็นคนเกียวโตสามารถพูดได้ว่า คนท้องถิ่นที่นี่ และในอีกหลายเมือง ส่วนใหญ่ไม่มีความสุขกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลัก

ตัวอย่าง เช่น รถบัสโดยสารที่แออัดไปด้วยคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ร้านอาหารบางแห่งที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ร้านอาหารในย่านดังบางแห่งยังมีเงื่อนไขเปิดให้จองโต๊ะทางออนไลน์เท่านั้น

นักวิจารณ์ของญี่ปุ่นรายหนึ่งได้กล่าวถึงที่มาของชื่อรัชสมัยใหม่ “เรวะ” ว่า เป็นครั้งแรกที่เลือกมาจากวรรณกรรมเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวยทางวัฒนธรรม แต่นโยบายของรัฐบาลในอุตฯการท่องเที่ยวสะท้อนว่า “ญี่ปุ่นยอมขายจิตวิญญาณด้านวัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อแลกกับเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

รายงานของ “เจแปนไทมส์” ระบุว่า มลพิษการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น มาจากรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองอื่นช้าเกินไป แม้ออกมาตรการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวขาออกนอกประเทศ คนละ 1,000 เยน เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่นักวิเคราะห์มองว่า อัตราภาษีดังกล่าวน้อยไปเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ญี่ปุ่นต้องปรับปรุง เช่น ระบบการขนส่งสาธารณะ ที่พักอาศัยที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ฯลฯ

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็ก และไม่มีเงินทุนในการปรับปรุงเร่งด่วน อีกทั้งญี่ปุ่นยังปรับตัวค่อนข้างช้าเกี่ยวกับการใช้ระบบธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

นายทาคาโอะกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่ามลพิษการท่องเที่ยว คือ ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การบรรลุเป้าหมายท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นั่นหมายถึง “การเยือนซ้ำ”


ดังนั้น นอกจากรัฐบาลต้องเพิ่มความสะดวกสบายรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว และโปรโมตการท่องเที่ยวในเมืองอื่น ๆ แล้ว ยังต้องปรับทัศนคติของคนในชาติให้เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย เพราะยังมีคนญี่ปุ่นบางกลุ่มที่มีความเป็นชาตินิยมสูง