เปิดภาพ”หลุมดำ” ภาพแรกของโลก กลางกาแล็กซี เอ็ม87

เมื่อ 10 เม.ย.  ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเปิดแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ภาพหลุมดำ หรือ แบล็กโฮล ภาพแรกของโลก ถ่ายได้จากกล้องโทรทัศน์ทั่วโลกตามโครงการ อีเวนต์ ฮอไรซัน เทเลสโคป หรือ อีเอชที (EHT)  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์  และเป็นหลักฐานแรกถึงการมีอยู่ของหลุมดำ

การแถลงข่าวดังกล่าวจัดขึ้นพร้อมกัน 6 สถานที่ พร้อมกันทั่วโลก เมื่อเวลา 13.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ตรงกับเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 10 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย

คณะนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยภาพถ่ายหลุมดำ Messier 87 หรือ เอ็ม87 ในกาแล็กซีแบบวงรี ที่อยู่ห่างไปยิ่งกว่าหลุมดำแรก และมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 6,500 ล้านเท่า อยู่ห่างจากโลกไปกว่า 53.49 ล้านปีแสง

ทุกอย่างนั้นเป็นไปตามหลักทฤษฎีสัมพันธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยอดนักฟิสิกส์ที่คาดการณ์สิ่งนี้ไว้แล้วเมื่อกว่า 100 ปีก่อน

ส่วนอีกหลุมดำที่คาดว่าจะได้รับการเปิดเผยด้วยเป็น ซาจิททาเรียส เอ หรือ แซ็ก เอ ซึ่งเป็นหลุมดำขนาดใหญ่อยู่บริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือ มิลกี เวย์ เป็นกาแล็กซีที่มีระบบสุริยะจักรวาลเป็นสมาชิก

แซ็ก เอ มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 4 ล้านเท่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 ล้านกิโลเมตร อยู่ห่างไปราว 26,000 ปีแสง หรือราว 245 ล้านล้านก.ม.

หลุมดำ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเนื่องจากมีแรงโน้มถ่วงมหาศาลที่แม้แต่แสงก็ไม่สามารถเล็ดรอดออกมาได้ นักวิทยาศาสตร์จะต้องใช้เทคนิคพิเศษในการถ่ายภาพหลุมดำ

นักวิทยาศาสตร์ทราบถึงการมีอยู่ของหลุมดำมานานแล้วแต่ยังไม่เคยมีภาพถ่ายมาก่อน ได้เพียงอาศัยการเก็บข้อมูลทางอ้อม เช่น กรณีศูนย์วิจัยไลโกที่สหรัฐอเมริกา ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดมาจากหลุมดำ 2 หลุม รวมตัวกัน เมื่อเดือนก.ย. 2558

ตอนนั้นมีนางสาวณัฐสินี กิจบุญชู หรือ น้องเมียม นักศึกษาไทยผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของไลโก ประจำสถานีตรวจวัด เขตแฮนฟอร์ด กรุงวอชิงตัน ตอนที่เครื่องตรวจวัดค้นพบคลื่นดังกล่าว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ผู้นำทีม 3 คน พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2560

 

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์