วิกฤต “737 แม็กซ์” เป็นเหตุ “โบอิ้ง” ถึงอัมพาต

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ผลการสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน 302 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส ที่มีการเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 4 เม.ย.นี้ ไม่ได้ส่งผลดีใด ๆ ต่อ “โบอิ้ง” ผู้ผลิตเครื่องบินแบบ 737 แม็กซ์ 8 ที่เกิดอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งลำเมื่อ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา

ทีมสอบสวนระบุในรายงาน “เบื้องต้น” ที่ต้องเปิดเผยภายใน 1 เดือนนับแต่เกิดอุบัติเหตุ ตามข้อบังคับขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ระบุว่านักบินได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของโบอิ้งแล้ว ทั้งปิดการทำงานของระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ และระบบป้องกันการชะงักกลางอากาศอัตโนมัติ (เอ็มซีเอเอส) แต่ไม่เป็นผล

โดยกระบวนการแก้ไขดังกล่าว โบอิ้งกำหนดขึ้นมาหลังเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับสายการบินไลอ้อนแอร์ เมื่อ 5 เดือนก่อน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ การแก้ไขปัญหาของ 737 แม็กซ์ ไม่ได้เป็นเรื่อง “ง่าย” และไม่ได้มีสาเหตุจากความสามารถของนักบิน เหมือนที่โบอิ้งพยายามกลบเกลื่อน

รายงานนี้บีบบังคับกลาย ๆ ให้ “เดนนิส มุยเลนเบิร์ก” ซีอีโอของโบอิ้ง ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ ในถ้อยแถลงผ่านคลิปวิดีโอในวันเดียวกัน แบ่งรับแบ่งสู้ที่จะยอมรับว่าซอฟต์แวร์ของโบอิ้งทำงานผิดพลาด เพราะ “เหตุต่อเนื่อง” ชุดหนึ่งแต่ไม่ยอมรับว่า คำแนะนำต่อนักบินของโบอิ้ง “ไม่เพียงพอ”

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ วิกฤต 737 แม็กซ์ครั้งนี้ก็ส่งผลให้โบอิ้งตกอยู่ในพายุร้ายแรงที่สุดที่บริษัทเคยเผชิญมา ทั้งด้านการเมือง กฎหมาย สะเทือนถึงสถานะการเงินด้วย เพราะชื่อเสียงด้านความปลอดภัยของโบอิ้ง ถูกตั้งคำถามอย่างเปิดเผยแล้วในเวลานี้

ผลการสอบสวนนี้ทำให้การแก้ปัญหาระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ ต้องใช้เวลานานกว่าที่คิด 737 แม็กซ์ ทั่วโลกก็สั่งห้ามนำมาให้บริการอยู่ในเวลานี้

ส่วนโบอิ้งก็ไม่สามารถส่งมอบเครื่องบิน 737 แม็กซ์ ใหม่ตามออร์เดอร์ ตราบเท่าที่การแก้ปัญหายังไม่ได้รับการยอมรับ เป็นเหตุผลที่ทำให้โบอิ้งต้องประกาศ “ลดระดับ” การผลิตเครื่องแม็กซ์ลง จากเดิม 52 ลำต่อเดือนเหลือเพียง 42 ลำ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีแผนจะเพิ่มสปีดการผลิตให้ได้ถึง 57 ลำต่อเดือนด้วยซ้ำไป

“สปิริต แอโรซิสเต็ม โฮลดิ้ง” กับ “ซีเอฟเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล” บริษัทร่วมทุนของ “เจเนอรัล อีเล็กทริก” กับ “ซาฟราน เอสเอ” ผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้กับแม็กซ์ ยืนยันว่าจะรักษาระดับการผลิตเดิมเอาไว้ แต่ไม่มีความชัดเจนว่าโบอิ้งจะทำอย่างไรกับเครื่องยนต์ส่วนที่เหลือ

ยิ่งการตรวจสอบระบบกินเวลานาน ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์มาก ทั้งจากความต้องการที่หายไปและกระแสเงินสดที่หล่อเลี้ยงบริษัทสถานการณ์ยิ่งแย่หนักเมื่อ “ราล์ฟ เนเดอร์” นักรณรงค์ผู้ทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้โบอิ้งเรียกคืนเครื่องบินรุ่นแม็กซ์ทั้งหมด ในนามของ “หลานสาว” ที่เสียชีวิตไปพร้อมกับเครื่องเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส

แม้แต่ เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า คำสั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้ควรยกเลิกหรือไม่ ขณะที่พีทีการูด้าอินโดนีเซีย เริ่มกระบวนการยกเลิกคำสั่งซื้อมูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์จากโบอิ้งแล้ว ด้วยเหตุผลว่า “ผู้บริโภคไม่ศรัทธาความปลอดภัยของแม็กซ์อีกต่อไป”

วิกฤตที่รุมเร้าโบอิ้งในเวลานี้ จะสร่างซาลงได้ก็ต่อเมื่อโบอิ้งสามารถค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่โบอิ้งเองก็ยอมรับในจุดนี้

แต่ไม่ว่าจะกินเวลามากมายแค่ไหน โบอิ้งต้องสร้างความมั่นใจว่า การปรับแก้ของตนทำงานได้จริง เพราะเอฟเอเอของสหรัฐ ก็ต้องจริงจังกับการตรวจสอบครั้งนี้ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของโบอิ้งมากเกินไป

ยิ่งไปกว่านั้นอาจไม่ใช่การตรวจสอบสุดท้ายอีกด้วย เพราะหน่วยงานด้านกำกับการบินระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน กำลังคิดกันว่าจะลงขันกันลงทุนตรวจสอบความปลอดภัยของโบอิ้งครั้งใหม่เอง เพราะไม่ไว้วางใจในเอฟเอเอและโบอิ้งอีกต่อไปแล้ว


ซึ่งจะหมายความว่าเราจะยังไม่ได้เห็นโบอิ้ง 737 แม็กซ์ บนท้องฟ้าอีกนานไม่น้อยเลยทีเดียว