“เฟซบุ๊ก-วอตส์แอป” สู้ศึก Fake News เลือกตั้งอินเดีย

ความดุเดือดในการหาเสียงของพรรคการเมืองในศึกเลือกตั้งอินเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 เมษายนนี้ เป็นที่จับตามองกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอินเดียถือได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ผู้มีสิทธิออกเสียงเกือบ 900 ล้านคน แต่สนามการเลือกตั้งอินเดียครั้งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ คือ การปล่อยข่าวลวง หรือ “เฟกนิวส์” (fake news) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งทางการเมือง ผ่านทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” และ “วอตส์แอป” ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในอินเดีย และส่งต่อกันไปโดยผู้ที่หลงเชื่อเนื้อหาดังกล่าวโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งไม่เพียงอินเดียเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2016 รวมถึงอีกหลายประเทศก็เคยประสบปัญหานี้มาแล้วเช่นกัน

ล่าสุด สำนักข่าว “อัลจาซีรา” รายงานว่า “เฟซบุ๊ก” ยักษ์โซเชียลมีเดียประกาศว่า ได้ดำเนินการลบเพจและบัญชีผู้ใช้ถึง 687 บัญชี ที่เชื่อมโยงกับพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านคู่แข่งสำคัญพรรคภารติยะ ชนตะ (บีเจพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งเฟซบุ๊กระบุว่า เพจและบัญชีเหล่านั้นถูกพิจารณาว่า “มีพฤติกรรมที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ” เนื่องจากมีการใช้บัญชีปลอมเพื่อรวมกลุ่มกันในการเผยแพร่เนื้อหาหลอกลวงโจมตีนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี

“นาธานเนียล ไกลเชอร์” หัวหน้านโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า “แม้พวกเขาจะพยายามปกปิดตัวตน แต่เราพบความเชื่อมโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคคองเกรส”

อย่างไรก็ตาม “The Digital Forensic Research Lab” ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ในการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้ให้กับเฟซบุ๊กชี้ว่า ผู้สนับสนุนพรรคบีเจพีเองก็มีการใช้ข้อความกล่าวร้าย “ราหุล คานธี” ผู้นำพรรคคองเกรสด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ “วอตส์แอป” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งข้อความส่วนบุคคลที่มีผู้ใช้บริการในอินเดียมากกว่า 200 ล้านคน ได้เปิดตัวบริการ “checkpoint tipline” สำหรับตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารในแพลตฟอร์ม เพื่อต่อต้านเฟกนิวส์ในการเลือกตั้งอินเดีย

โดยวอตส์แอปได้ร่วมมือกับ “โพรโต” (Proto) สตาร์ตอัพของอินเดีย ในการตรวจสอบข้อความที่ผู้ใช้งานส่งเข้ามาเพื่อขอรับบริการตรวจสอบ โดยจะมีข้อความแจ้งกลับไปยังผู้ใช้ว่า ข้อความที่ส่งมาเพื่อตรวจสอบนั้นเป็น “จริง” “เท็จ” “หลอกลวง” หรือ “เป็นข้อถกเถียง”

บริการดังกล่าวจะมีการพัฒนาดาต้าเบส เพื่อการตรวจสอบเฟกนิวส์ได้ดียิ่งขึ้น โดย “checkpoint tipline” สามารถให้บริการภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของอินเดียอีก 4 ภาษา แต่ก็ยังมีข้อวิจารณ์ว่าบริการนี้ยังใช้เวลาในการตรวจสอบนานถึง 2 ชั่วโมง

วอตส์แอปยังระบุว่า ในเดือน ก.ค.นี้จะเริ่มจำกัดการส่งต่อข้อความของผู้ใช้งานชาวอินเดีย เพื่อควบคุมการส่งต่อข้อมูลเท็จในวงกว้าง ซึ่งเป็นสาเหตุของข่าวลือที่นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมหลายต่อหลายครั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อขจัดข่าวปลอมของยักษ์โซเชียลมีเดียเกิดขึ้น หลังจากที่เฟซบุ๊กและผู้ให้บริการออนไลน์อื่น ๆ ถูกกดดันจากทั่วโลกให้สร้างความมั่นใจว่า แพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านั้นจะไม่ถูกนำไปใช้ในการบิดเบือนให้ร้ายทางการเมืองและเผยแพร่ข่าวลวงที่นำไปสู่ความรุนแรงในท้ายที่สุด