เหตุที่ “เซาท์อีสต์เอเชีย” อาจไม่ใช่ “โรงงานโลก” แทนจีน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ โดย นงนุช สิงหเดชะ

ดังที่ทราบกัน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งยืดเยื้อเกินคาด และไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร ได้ก่อความปั่นป่วนให้กับบริษัทข้ามชาติที่มีฐานการผลิตในจีน เพราะหมายถึงว่าสินค้าจากจีนจะถูกเก็บภาษีสูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องปรับตัวและหาทางย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า กลุ่มประเทศใดบ้างจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานครั้งนี้
หนึ่งในนั้นก็คือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ส่วนประเทศใดจะได้รับประโยชน์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ตรงกับความต้องการของบริษัทที่จะย้ายมาหรือไม่ เช่น บางประเทศก็มีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมรถยนต์

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยของนายเจอร์รี แมตเทียส รองประธานบริษัท เบน แอนด์ คอมปะนี ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาระบุว่า ผลสำรวจล่าสุดของบริษัทซึ่งสำรวจผู้บริหารระดับสูง จำนวน 200 คน ของบริษัท
ข้ามชาติอเมริกันที่ดำเนินกิจการในจีน พบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่ใช่โรงงานแห่งใหม่ของโลกต่อจากจีน ในแบบที่จีนเคยเป็นเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เพราะนโยบายเศรษฐกิจของจีนที่มุ่งเน้นการบริโภคภายในเป็นหลักแทนส่งออก จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ยังคงการผลิตส่วนหนึ่งไว้ในจีน เพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศ มีเพียงสินค้าบางอย่างที่ผลิตเพื่อส่งออกอาจย้ายการผลิตไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายแมตเทียสระบุว่า การผลิตในปัจจุบันไม่ได้มีรูปแบบกระจุกตัว หรือมีศูนย์รวมอยู่ที่ใดที่หนึ่งของโลกอีกต่อไป

หากแต่มีลักษณะกระจายตัว อย่างเช่น บริษัทต่าง ๆ อาจเลือกผลิตสินค้าในแหล่งที่ใกล้กับผู้บริโภคของพวกตนในสหรัฐ หรือในยุโรป เป็นต้น เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นได้

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองชาติใหญ่ทำให้เปอร์เซ็นต์การขยับตัวของบริษัทต่าง ๆ เพื่อหนีปัญหาสูงขึ้น

โดยการสำรวจครั้งนี้บริษัทที่ตอบแบบสอบถาม 60% พร้อมจะขยับตัวทำบางอย่างเพื่อหลีกหนีผลกระทบ สูงขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 50% เท่านั้นที่ตอบว่าจะขยับตัว

“การสำรวจก่อนหน้านี้ กว่าครึ่งหนึ่งตอบว่าอยู่เฉย ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เพื่อรับมือ แต่ครั้งนี้ 60% บอกว่า พวกเขาพร้อมจะลงมือทำบางอย่างในระยะ 12 เดือนข้างหน้า หลังจากเห็นอุปสรรคที่จะกระทบต่องบดุลบริษัท พวกเขากำลังพยายามทบทวนห่วงโซ่อุปทานใหม่ มองหาซัพพลายเออร์ใหม่ แหล่งนวัตกรรมและแหล่งผลิตใหม่”

รองประธานเบน แอนด์ คอมปะนีชี้ว่า ถึงแม้บริษัททั้งหลายพร้อมจะลงมือทำบางอย่างเพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่สิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุด คือ เสถียรภาพ เพื่อจะสามารถวางแผนได้ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการพิพาททางการค้าไม่ส่งผลดีต่อใคร

สำหรับความคืบหน้าการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน ล่าสุดตามรายงานของไฟแนนเชียล ไทม์สระบุว่า ทีมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ราว 90% แล้วในประเด็นสำคัญ เหลือเพียง 10% เท่านั้นที่ยังมีความยุ่งยาก และจำเป็นต้องมีข้อแลกเปลี่ยนกัน โดยฝ่ายจีนต้องการให้สหรัฐยกเลิกภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าจีนอยู่ในขณะนี้ ส่วนสหรัฐเรียกร้องให้จีนเห็นชอบข้อกำหนดว่าด้วยกลไกการบังคับใช้เพื่อรับประกันว่าจีนจะปฏิบัติตามในสิ่งที่ตกลงกันไว้

ขั้นตอนต่อจากนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐและผู้แทนการค้าสหรัฐจะหารือกับนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน หากในขั้นนี้ผลเจรจาออกมาดี มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเซ็นข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เตือนว่าหากสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ววัน เศรษฐกิจโลกอาจถดถอย

ขณะที่สื่อของจีนอย่างหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ รายงานการให้สัมภาษณ์ของ “หัว เจียงกั๋ว” รองประธานสมาคมจีนเพื่อการศึกษาดับเบิลยูทีโอ เตือนว่า ความล้มเหลวอาจเกิดขึ้นได้ หากเป็นเช่นนั้นสหรัฐต้องจ่ายราคาครั้งใหญ่ เพราะจีนได้แสดงออกถึงความจริงใจในประเด็นที่สหรัฐกังวลแล้วด้วยการกระทำ

หากการเจรจาระดับสูงที่ดำเนินมา 9 รอบ ยังไม่สามารถบรรลุผล ก็เป็นความรับผิดชอบของสหรัฐแต่ฝ่ายเดียว