คำเตือนจากไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจโลก 70% ชะลอตัว

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เดินทางไปบรรยายพิเศษว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่สภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะเผยแพร่รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกออกมาในเวลาต่อมา

ท่ามกลางคาดการณ์ถึงภาวะถดถอย ทั้งที่สหรัฐและทั่วโลก ลาการ์ดระบุว่า นักวิชาการไอเอ็มเอฟไม่ได้คาดหมายว่าจะเกิดภาวะถดถอยขึ้น “ในระยะใกล้นี้” แต่ยืนยันว่าภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกนับตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้ ปั่นป่วนขึ้น

“ย้อนกลับไป 2 ปี 75% ของเศรษฐกิจโลกปรับตัวสู่ภาวะขยายตัวสูงขึ้นพร้อมกัน แต่ปีนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่า 70% ของเศรษฐกิจโลกจะตกอยู่ในภาวะชะลอการเติบโตลง” แต่ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยในระยะอันใกล้แต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการของไอเอ็มเอฟกลับคาดว่า ช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2020 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มผงกหัวขึ้น สาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายสนองตอบต่อแนวโน้มขาลงดังกล่าว ตัวอย่าง เช่น เฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐ พยายามปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่สภาวะปกติด้วยความอดทนมากขึ้นกว่าเดิม หมายถึงระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ผ่านมา รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นทั้งหลายที่จีนนำออกมาใช้ จนส่งผลให้การเงินในประเทศผ่อนคลายมากขึ้น

ลาการ์ดเตือนด้วยว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มในครึ่งหลังของปีนี้จนถึงปีหน้า “เป็นคาดการณ์ล่วงหน้าที่ไม่แน่นอนอยู่มาก” เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้มีแรงกดดันจนเกิดความเสี่ยงในทางลบอยู่มาก ทั้งกรณีการลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือ “เบร็กซิต” หรือภาวะหนี้สินระดับสูงในภาคการผลิตและในบางประเทศ จนถึงความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้ง “ความรู้สึกอึดอัด” ในตลาดการเงินโลกในเวลานี้

กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ เน้นเป็นพิเศษไปที่สงครามการค้า ตั้งข้อสังเกตว่า สุดท้ายแล้วภาวะตึงเครียดทางการค้าจะทำให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐและจีน โดยเฉพาะเมื่อเราลองตรวจสอบดูว่า อะไรอาจเกิดขึ้นถ้าหากมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าทุกอย่างที่มีการค้าขายกันอยู่ระหว่างสหรัฐกับจีนเป็น 25% เฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าเพียงอย่างเดียวก็สามารถลดสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐลงได้ถึง 0.6% และจีดีพีของจีนเองก็จะลดลงมากถึง 1.5%

ในอีก 2 วันถัดมา ไอเอ็มเอฟเผยแพร่งานวิจัยระบุชัดว่า สงครามการค้าที่เกิดจากการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันนั้น นอกจากจะทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของสหรัฐกับจีนแย่ลงแล้ว ยังไม่ส่งผลใด ๆ ต่อ “ดุลการค้า” ระหว่างประเทศทั้งสองแต่อย่างใด

งานวิจัยที่ว่านี้ นักวิชาการของไอเอ็มเอฟได้ศึกษาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าใน 63 ประเทศในช่วง 2 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1995-2015 ถือเป็นการวิจารณ์นโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐโดยตรง ที่หวังจะใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการปรับลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐลง

เพราะไอเอ็มเอฟใช้ข้อมูลจากการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ส่งผลต่อดุลการค้ามากที่สุด คือ แนวโน้มของเศรษฐกิจโดยรวมต่างหาก แล้วยกตัวอย่างให้เห็นไว้ว่า ข้อมูลของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นทำสงครามการค้า สหรัฐกลับขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มมากขึ้นอีก 43,600 ล้านดอลลาร์ รวมเป็น 419,200 ล้านดอลลาร์

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะสหรัฐผลิตสินค้ามาขายน้อยกว่าที่ใช้เงินซื้อสินค้า การขึ้นภาษีทำให้สินค้าจากจีนแพงขึ้น และอาจจะลดการขาดดุลกับจีนได้ก็จริง

แต่ภาวะขาดดุลการค้ารวมไม่มีวันลดลง เพราะถึงไม่ซื้อจากจีน คนอเมริกันก็จะซื้อจากประเทศอื่น ๆ อยู่ดีนั่นเอง