“ไต้หวัน” มุ่งร่วมมือ “นวัตกรรม-เทคโนโลยี” ฉลองเปิดสนง. NARLabs ครั้งแรกในไทย

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันและไทยอยู่ในระดับที่ดี และมีความร่วมมือระหว่างกันมายาวนาน นับตั้งแต่ที่มีนักธุรกิจชาวไต้หวันรายแรกเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ในปี 1990 ตอบรับหลังจากรัฐบาลไทยไฟเขียวต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ และพยายามปรับปรุงบรรยากาศในการลงทุน เพิ่มสิ่งจูงใจสำหรับนักธุรกิจต่างสัญชาติ เช่น โครงการอุตสาหกรรมที่ปลอดภาษี และสร้างบรรยากาศในการลงทุน

ทั้งนี้ การลงทุนจากไต้หวันในไทยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต, สิ่งทอ, เฟอร์นิเจอร์, การแปรรูปอาหาร, ไอซีที, เครื่องจักรกลหนัก, ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึง เครื่องประดับต่างๆ

การลงทุนของไต้หวันในไทย ตามการเปิดเผยของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประเทศไทย (BOI) ระบุว่า การลงทุนสะสมระหว่างปี 1952-2018 อยู่ที่ 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักลงทุนไต้หวัน เป็นกลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่อันดับ 3 ของไทย รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ ทางไต้หวันระบุด้วยว่า ในภาพรวมการลงทุนของไต้หวันในไทยนั้นมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก ขณะเดียวกัน แพ็จเกจจูงใจของนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และ “อีอีซี โปรเจ็กต์” ได้รับความสนใจต่อนักลงทุนชาวไต้หวันมากขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เลี่ยว จวิ้น จื้อ ประธานสถาบันวิจัยแห่งชาติ Academia Sinica สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในระหว่างที่มาร่วมงานเปิดสำนักงาน NARLabs เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยกล่าวยืนยันว่า “ไทย-ไต้หวัน” มีความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมาอย่างยาวนานมาก และในปัจจุบันทั้งสองประเทศก็มีความร่วมมือกันอยู่ก่อนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือเกี่ยวกับ “เทคโนโลยี” เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน

พร้อมยังกล่าวว่า ทางไต้หวันเองถือว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยมานาน ซึ่งได้ทำการวิจัยจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ “NARLabs” หรือ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยประยุกต์แห่งชาติไต้หวัน ขณะที่การจัดตั้งสำนักงานครั้งนี้ในไทย เราต่างก็คาดหวังว่า ในอนาคตเหล่านักวิจัยจากหลายๆ ศูนย์การวิจัยจากทั่วโลกจะถูกส่งมาที่นี่ เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน เป็นแพลตฟอร์มด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ

นายเลี่ยว กล่าวอีกว่า การเปิดสำนักงาน NARLabs ในไทยครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทยกับไต้หวันที่จะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การยกระดับการประมวลผลเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, เซมิคอนดักเตอร์ ดีไซน์ เป็นต้น”

และเมื่อถามถึง “โอกาส” ที่นักลงทุนชาวไต้หวันจะเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังจากที่เปิดตัวสำนักงานแห่งนี้ในไทย ประธานสถาบันวิจัยฯ กล่าวว่า เป็นไปได้สูงมากๆ และมีความเชื่อมั่นแบบนั้น เพราะหากว่าเราสามารถเพิ่มความเข้าใจระหว่างประชาชนให้มากขึ้น มีการติดต่อสื่อสาร และมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่โอกาสที่ดีทั้งของไทยและไต้หวันในการเพิ่มความร่วมมือกันในหลากหลายมิติ ซึ่งการจัดตั้งสำนักงาน NARLabs ในไทย ถือเป็นเชิงสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งว่า ไต้หวันและไทยจะกระชับความร่วมมือมากขึ้นอีก

โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงด้านการศึกษา ที่เราให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่เราสนใจและให้ความสำคัญ ก็คือ “บทบาทหรือสถานะของไต้หวันในไทย”

สำหรับ “ไทยแลนด์ 4.0” เมกะโปรเจ็กต์ ประธานสถาบันวิจัยฯ แห่งไต้หวัน กล่าวว่า ขั้นตอนแรกๆ ที่เรายังให้ความสำคัญที่สุดซึ่งเกี่ยวโยงกับความร่วมมือระหว่างกัน ยังคงเป็น “การสร้างการรับรู้และเข้าใจระหว่างประชาชนก่อน” นั่นเป็นเหตุผลที่เรามาที่นี่ ซึ่งที่ผ่านมาเราเองก็ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่ตลอด

“อย่างที่เคยได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ ไต้หวันมีความเชี่ยวชาญมากเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT) และผลิตภัณฑ์ยา รวมไปถึงยังเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา ฉะนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างไทยและไต้หวัน และจะช่วยให้โปรเจ็กต์ต่างๆ ทั้งของรัฐบาลไทย หรือไต้หวันเองบรรลุเป้าหมายตามที่ได้คาดหวังไว้” นายเลี่ยว ระบุ

และเมื่อถามถึงปัญหาหรืออุปสรรคของไต้หวันที่ต้องการเรียกร้องรัฐบาลไทย นายเลี่ยว กล่าวว่า ผมคิดว่ารัฐบาลไทยมีเป้าหมายและนโยบายต่างๆ ที่ดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว เช่น ความร่วมมือในระดับนานาชาติ รวมถึงความร่วมมือกับ “ไต้หวัน” ด้วย อีกอย่างที่ผ่านมาเราเองได้เห็นขั้นตอนหรือความคืบหน้าจากรัฐบาลไทย ที่พยายามจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เห็นได้จากตัวอย่างของ “NARLabs” ที่เราได้มาจัดตั้งสำนักงานในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม นายเลี่ยว กล่าวถึง “ปัญหาในการออกวีซ่า” หากสามารถปรับปรุง เช่น ย่นระยะการออกวีซ่าสำหรับทำงานให้เร็วขึ้นได้ และปรับปรุงขั้นตอนของเอกสารต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็น่าจะดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติที่สนใจเข้ามาในไทยได้มากขึ้นอีก

ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญปัญหา “การขาดแคลนบุคคลากรที่เชี่ยวชาญ” ซึ่งนายเลี่ยว กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของผมที่เดินทางมาที่นี่ ดังนั้น ผมอาจจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาหรือความท้าทายนี้มานัก แต่ผมคิดว่าปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่เชี่ยวชาญในไทย ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการพัฒนาประเทศ หรือความร่วมมือกันระหว่างไทยกับไต้หวัน แต่สิ่งที่มองว่าอาจจะเป็นความท้าทายใหญ่กว่า นั่นคือ “เสถียรภาพ” (Stable) ของการพัฒนา หมายถึง การพัฒนาที่มั่นคงและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ประธานสถาบันวิจัยฯ กล่าวอีกว่า การลงทุนในระบบการศึกษามีความสำคัญและจำเป็นมาก ซึ่งระบบการศึกษาต้องมีความทันสมัยและตอบโจทย์ดีมานด์ของอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้ ดังนั้น รัฐบาลควรใส่ใจและเพิ่มการลงทุนในระยะยาวสำหรับกลยุทธ์เหล่านี้ รวมไปถึงการลงทุนระยะยาวในด้านวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิด “real innovation”

นายเลี่ยวได้กล่าวในฐานะที่เป็น นักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอีกหนึ่งคน โดยให้แง่คิดถึงกลุ่มคนที่มองว่า “วิทยาศาสตร์เป็นงานที่น่าเบื่อ” โดยกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ไม่มีอะไรที่น่าเบื่อเลย ในปัจจุบันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และก็ล้วนอยู่รอบๆ ตัวเรา แม้กระทั่งระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีระบบที่ชาญฉลาดเกิดขึ้นมากมาย หรือเวลาที่คุณไปโรงพยาบาลที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งต่างก็จำเป็นต่อคนในโลกปัจจุบัน

ผมมองว่า ยิ่งคนรุ่นใหม่ๆ ยิ่งต้องให้ความสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่คุณต้องอุทิศตนและโฟกัสไปวิถีของวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง เรียนรู้ ลองแก้ไขปัญหา ใช้เวลาอยู่กับมันเป็นระยะเวลาที่นาน นั่นแหละคือ กุญแจที่จะไขสู่ความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ได้

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ “ไต้หวัน” เท่านั้นที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลก หลายๆ ประเทศก้ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศนวัตกรรมเช่นเดียวกัน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน อิสราเอล หรือเกาหลีใต้ รวมไปถึงหลายประเทศในยุโรป ขณะเดียวกัน หลายๆ ประเทศก็ต่างมุ่งขยายความเชี่ยวชาญเหล่านี้ไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึง ไทย ด้วยเช่นกัน

โดยนายเลี่ยวกล่าวว่า เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น หลายๆ ประเทศสนใจและจำเป็นต้องขยาย พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียน ไต้หวันก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเราต่างก็มีแผนดำเนินนโยบายในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน ทั้งเพิ่มการลงทุนการวิจัยในระยะยาว ลงทุนในด้านการศึกษา และการพัฒนา

และอย่างที่ผมพูดไป ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวันมีความเชี่ยวชาญใน “เซมิคอนดักเตอร์” และ “ดิจิทัลโซลูชั่น” ความสำเร็จของเราถือเป็นการร่วมสร้างสังคมนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ กล่าวคือ ทุกประเทศล้วนเก่งและเชี่ยวชาญในด้านที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าประเทศปลายทางเหล่านั้น ต้องการที่จะพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหน