“ดิสนีย์” ท้าสู้ “เน็ตฟลิกซ์” ระเบิดศึก “โลกบันเทิง”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายปีมานี้ จากที่เริ่มต้นจากผู้ผลิต-ผู้กำกับฯ สู่ค่ายหนัง-บริษัทจัดจำหน่าย แล้วมาถึงผู้ชม ทั้งในรูปของภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์, แผ่นดีวีดี หรือบลูเรย์พัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร สร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ เรียกกันว่า “สตรีมมิ่ง” ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ขานรับเรื่องนี้อย่างยินดี พัฒนาเครื่องรับให้สตรีมมิ่งโดยไม่จำเป็นต้องผ่าน “กล่อง” หรือ “คอมพิวเตอร์” ขณะที่บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสตรีมมิ่ง เริ่มทำรายได้จากการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มาให้ชมกันถึงบ้าน ในเวลาไหนก็ได้ที่ต้องการ

เมื่อเน็ตฟลิกซ์มีผู้สมัครรับชมเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตในราคาเดือนละ 8.99 ดอลลาร์ สูงถึง 140 ล้านคน โครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมก็รวนไปหมด ทั้งเห็นช่องทางใหม่ ๆ และเริ่มรู้สึกถึงการคุกคาม

เมื่อผู้ผลิตภาพยนตร์ส่วนหนึ่งเห็นช่องทางสร้างสรรค์งานใหม่ โดยไม่ต้องง้อค่ายหนังผูกขาดอีกต่อไป ผู้ชมก็ได้รับชมสิ่งที่เป็น “ออริจินอลมูฟวี่” หรือ “ออริจินอลซีรีส์” ทำให้เจ้าของกิจการสตรีมมิ่งกลายเป็นค่ายหนังเองไปในตัว

ในขณะที่ค่ายภาพยนตร์ในระดับโลก เริ่มคิดมากขึ้นตามลำดับว่า ทำไมต้องนั่งรอเพียงส่วนแบ่งจากการสตรีมมิ่ง ทำไมไม่เป็นเจ้าของสตรีมมิ่งเสียเอง ?

เป็นเหตุผลที่ วอลต์ ดิสนีย์ บริษัทผู้ผลิตและเป็นเจ้าของเนื้อหาความบันเทิงอันดับต้นของโลกตัดสินใจเมื่อกลางเดือน เม.ย. เปิดตัว “ดิสนีย์พลัส” (Disney+) บริการสตรีมมิ่งเช่นเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ เตรียมเปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกาในเดือน พ.ย.นี้

ที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์มีคู่ต่อสู้มากมาย รวมทั้งรายใหญ่อย่าง อเมซอน, ฮูลู จนถึงไพรม วิดีโอ และแอปเปิล ทีวี ที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นตามลำดับ แต่ไม่มีใครมี “อาวุธหนัก” จำนวนมากเหมือนกับที่ดิสนีย์

ตัวอย่างอาวุธ “ใหญ่ที่สุด” ของดิสนีย์ ในเวลานี้เพื่อต่อกรกับเน็ตฟลิกซ์ก็คือ “สตาร์ วอร์ส” และบรรดาสารพัดฮีโร่ ในเครือ “มาร์เวล” ทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่สไปเดอร์แมน ไปจนถึงกัปตันอเมริกา

ดิสนีย์ประกาศยั่วน้ำลายเอาไว้ว่า บริการของตนจะรวมถึง “เดอะ ซิมป์สันส์” 30 ซีซั่น, “เดอะ แมนดาโลเรียน” ที่เป็นสเปซโอเปร่า ยอดฮิต, “มัลคอล์ม อิน เดอะ มิดเดิล” ซิตคอมซีรีส์ ฮิต 7 ซีซั่น จนถึงความบันเทิงสำหรับครอบครัว อย่าง “เดอะ ซาวด์ ออฟ มิวสิก”ยังมีสารคดีชั้นดีจากเนชั่นแนล จีโอกราฟิก คิดสนนราคาต่อเดือนแค่ 6.99 ดอลลาร์สหรัฐ ก็เท่ากับเป็นการเปิดศึกยึดหน้าจอทีวีกันไม่เพียงแต่ในสหรัฐ แต่ครอบคลุมไปทุกประเทศทั่วโลก

“ดิสนีย์พลัส” ตั้งเป้าเอาไว้ไม่มากไม่มาย แค่ขอ 60-90 ล้านสมาชิกในช่วง 5 ปีแรกเท่านั้นเอง

นักวิเคราะห์ในวงการแตกความเห็นต่อสงครามบันเทิงครั้งนี้ออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ระดับราคาที่ “เซอร์ไพรส์” ของดิสนีย์พลัส กับเนื้อหาที่เป็นอาวุธสำคัญ น่าจะช่วยให้ดิสนีย์พลัส สั่นคลอนบัลลังก์ของเน็ตฟลิกซ์ได้ไม่ยาก

ลอรา มาร์ติน นักวิเคราะห์ของนีดแฮมแอนด์โค เชื่อว่าต้นทุนความเป็น “แบรนด์ที่คุ้นเคย” ซึ่งมีผลผลิตที่เรียกผู้ชมได้นับ 100 ล้านครัวเรือน แถมทั้งราคาที่ยวนใจจะช่วยให้ถึงที่สุดแล้ว ดิสนีย์พลัสจะสามารถโค่นเน็ตฟลิกซ์ได้

ขณะที่เน็ตฟลิกซ์ แม้จะเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี แต่ไม่ได้มีหัวใจเป็นบันเทิงแท้ ๆ

รวมทั้ง จอห์น เมเยอร์ นักวิเคราะห์ของทรานส์ไปร์ เวนเจอร์ บริษัทเพื่อการลงทุน เชื่อว่าเน็ตฟลิกซ์จะยังคงมีแต้มต่อในฐานะที่เป็น “ผู้มาก่อน” แม้ว่าอาจต้องยอมเสียพื้นที่ในส่วนที่เป็นบันเทิงครอบครัว และผู้ชมหนุ่มสาวให้กับดิสนีย์พลัสไปบ้างก็ตามที

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในเวลานี้ เน็ตฟลิกซ์รู้ว่าผู้ชมต้องการอะไรมากที่สุด มากกว่าใครต่อใครในอุตสาหกรรมนี้แล้ว