“เจ็ต แอร์เวย์ส” หยุดบิน ปมปัญหาแอร์ไลน์ทั่วโลก

ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา “ธุรกิจการบินโลก” แข่งขันกันดุเดือดรวมถึงที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดการบินของอินเดีย กับกรณีของ “เจ็ต แอร์เวย์ส” สายการบินเอกชนรายใหญ่สุด ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนเกือบล้มละลาย และสัปดาห์ก่อนได้ระงับเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศแบบไม่มีกำหนด

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “เจ็ต แอร์เวย์ส” ดำเนินธุรกิจมานานเกือบ 26 ปี ถือเป็นหนึ่งในสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ประกาศระงับเที่ยวบินทั้งหมด ทั้งเที่ยวบินในประเทศ 600 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 380 เส้นทาง เพราะมีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก นายจอห์น สตริกแลนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายให้คำปรึกษาด้านการบิน บริษัท JLS Consulting กล่าวว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินอินเดียรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่สายการบินโลว์คอสต์ของอินเดียอย่าง “อินดิโก” (IndiGo) และ “สไปซีเจ็ต” (SpiceJet) เข้าสู่ตลาดการบินอินเดีย รวมถึงรัฐบาลได้อนุมัติให้สายการบินสัญชาติอื่น สามารถเข้ามาทำตลาดการบินในอินเดียได้

“อินเดีย” มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้สายการบินหน้าใหม่ ทั้งสัญชาติอินเดียและต่างสัญชาติเข้ามาอย่างคึกคัก

ขณะที่เจ็ต แอร์เวย์ส สายการบินที่ครองส่วนแบ่งตลาดในอินเดียถึง 20% และเคยมีเครื่องบินโดยสารมากถึง 123 ลำ

แต่ล่าสุดเหลือเพียง 5 ลำเท่านั้น จากปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เจ้าหนี้หลายแห่งนำโดยธนาคารแห่งรัฐอินเดีย (SBI) ไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้ เพราะการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง และยังไม่เห็นแผนฟื้นฟูสายการบินที่ชัดเจน

“ร็อบ วอตตส์” ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน Aerotask กล่าวว่า อันที่จริงสัญญาณลบของเจ็ต แอร์เวย์ส ปรากฏขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ที่เอทิฮัด สายการบินแห่งชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 24% และเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์ “เชิงรุก” โดยเน้นการสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารลำใหม่ และเปิดเส้นทางบินใหม่ ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

“บางทีการมีฝูงบินมากอาจไม่ได้หมายถึงความสำเร็จในตลาดการบิน หากสัดส่วนของฝูงบินที่ไม่สร้างผลกำไรมีมาก เพราะสายการบินก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น” นายวอตตส์กล่าวอีกว่า เจ็ต แอร์เวย์ส มีจุดอ่อนในนโยบายทางการตลาด จนทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทให้เช่าเครื่องบิน

อีกปัจจัยของปัญหาการเงิน คือ การใช้นโยบายดัมพ์ราคา ออกแคมเปญส่งเสริมการขายที่นานเกินไป เช่น การตัดราคาตั๋วเครื่องบิน และลดราคาน้ำหนักกระเป๋า แต่ยังให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเหมือนเดิม

เจ็ต แอร์เวย์ส ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และการอ่อนค่าของเงินรูปี ทำให้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของสายการบินสูงขึ้น

รายงานระบุว่า รัฐบาลอินเดียพยายามช่วยเหลือด้วยการยื่นข้อเสนอให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้าพยุงสถานการณ์ไม่ให้สายการบินต้องปิดตัวลง โดยแลกกับการเข้าถือหุ้นใหญ่ในสายการบินแห่งนี้ 75% ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายใน 10 พ.ค.นี้

เจ็ต แอร์เวย์ส ไม่ใช่สายการบินของอินเดียแห่งแรกที่ประสบปัญหา ก่อนหน้านี้มีสายการบินของอินเดียหลายแห่งที่เผชิญปัญหาเดียวกัน เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ รวมไปถึงการประมาทคู่แข่งอย่าง “สายการบินโลว์คอสต์” เช่น “คิงฟิชเชอร์ แอร์ไลน์ส” ที่ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จจนต้องปิดตัวลงในปี 2012 รวมถึง “แอร์ อินเดีย” ก็เกือบจะล้มละลายเช่นกัน จนรัฐบาลตัดสินใจเข้ามาช่วย และแปรรูปเมื่อ 2 ปีก่อน

ปัจจุบันมีสายการบินจำนวนไม่น้อยที่เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน อาทิ มาเลเซีย แอร์ไลน์ส ที่เจอมรสุมลูกใหญ่หลายครั้ง จนรัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะอุ้มหรือขายกิจการ แม้แต่สายการบินเซาท์แอฟริกัน แอร์เวย์ส ที่ประสบปัญหาขาดทุนหนักต่อเนื่อง และภาครัฐก็ช่วยอุ้มมานาน 7 ปี และล่าสุด “ฮ่องกง แอร์ไลน์ส” ที่เกิดกรณีดราม่าของผู้ถือหุ้นใหญ่แย่งชิงตำแหน่งซีอีโอ หลังจากที่สายการบินเริ่มขาดทุน และไม่มีเงินทุนปรับปรุงบริษัท

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกำลังวุ่นวายหนัก จากสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น และการดำเนินนโยบายไม่รอบคอบ