ญี่ปุ่นพัฒนา “AI จับขโมย”

การลักขโมยสินค้าในร้านสะดวกซื้อเป็นปัญหาระดับโลก “Global Shrink Index” ชี้ว่า การขโมยของในร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ สร้างความเสียหายมากถึง 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า ญี่ปุ่นมีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ช่วยจับหัวขโมยในร้านค้าสะดวกซื้อ ที่ชื่อว่า “วาก” (Vaak) โดยจะมีการใช้ร่วมกับโปรแกรม “วากอาย” (VaakEye) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล โดยมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เชื่อมโยงเข้ากับประวัติอาชญากรรม เนื่องจาก “วาก” สามารถวิเคราะห์สีหน้า ทิศทางการเคลื่อนไหว ไปจนถึงเสื้อผ้าที่ลูกค้าสวมใส่

“วาก” พัฒนาโดยสตาร์ตอัพญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย “เรียว ทานากะ” โดยมีการใช้ข้อมูลอัลกอริทึ่มเพื่อให้โปรแกรมสามารถทำงานได้ดีโดยนำร่องกับร้านค้าสะดวกซื้อ 50 แห่งในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

“มิเชล แกรนต์” นักวิเคราะห์จาก “ยูโรมอนิเตอร์” บริษัทวิจัยการตลาด มองว่า แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีเป้าหมายป้องกันการลักขโมย แต่ก็อาจเป็นการปิดกั้นไม่ให้ลูกค้าบางคนเข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อได้ เพราะระบบนี้มีการสอดส่องทุกคนที่เข้ามาในร้าน และแจ้งว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นขโมยกี่เปอร์เซ็นต์ และข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ ในระบบสำหรับการตรวจในครั้งต่อไป

ผู้พัฒนาวาก ชี้แจงว่า “สิ่งที่เราให้คือ ข้อมูลและภาพที่น่าสงสัย เอไอไม่ได้ตัดสินว่าใครเป็นอาชญากร แต่จะมีการส่งสัญญาณเตือนกรณีพบผู้ต้องสงสัย และร้านค้าจะเป็นผู้ตัดสิน”

“ฮันนาห์ โคชแมน” จากองค์กรสิทธิมนุษยชน เคยต้านเทคโนโลยีจดจำใบหน้าในอังกฤษ ระบุว่า “ตอนนี้ร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นบริษัทเอกชนกำลังทำสิ่งที่คล้ายกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

แม้ว่า “ทานากะ” ชี้แจงว่า เทคโนโลยีวาก ใช้พฤติกรรมของบุคคลเป็นปัจจัยหลักในการวิเคราะห์มากกว่าใช้เรื่องเพศและสีผิว ทว่า โคชแมนตั้งข้อสังเกตว่า “วาก” ยังมีการเก็บอัลกอลิทึ่มข้อมูลด้านเพศและสีผิว ดังนั้นจะต้องพัฒนาอัลกอลิทึ่มการวิเคราะห์โดยปราศจากอคติ

อีกปัญหาที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกังขา ก็คือ ความโปร่งใสของข้อมูลในกระบวนการบันทึกและจัดเก็บ รวมถึงระบบการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล และการไม่นำข้อมูลไปใช้งานร่วมกับร้านอื่น ๆ

ทานากะกล่าวว่า “ลูกค้าจะต้องรู้ก่อนที่จะเข้าสู่ร้านค้าว่ามีการใช้เทคโนโลยีนี้ และเลือกที่จะไม่เข้าไปใช้บริการได้ และทางการต้องมีมาตรการให้ร้านสะดวกซื้อเปิดเผยข้อมูลการใช้งาน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ กระบวนการใช้ สถานที่ใช้ และระยะเวลา”

ทั้งนี้ นอกจากเป้าหมายในการลดปัญหาการลักขโมยในร้านค้าแล้ว จำนวนประชากรที่ลดลงต่อเนื่องในญี่ปุ่นกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ร้านค้าต้องการเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยสอดส่องดูแลร้าน ทดแทนจำนวนพนักงานที่ลดปริมาณลง แต่ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า เทคโนโลยี “วาก” จะสามารถผ่านข้อครหาและใช้เพื่อรับมือกับปัญหาได้หรือไม่