“สติกลิตซ์” วิพากษ์ “ทรัมป์” ใช้ “กฎแห่งป่า” เจรจาการค้า

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเฮฟวีเวต สำหรับ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 2001 และปัจจุบันเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก พูดอะไรออกมาแต่ละครั้งโลกต้องเงี่ยหูฟัง ล่าสุดนี้สาระสำคัญในหนังสือของสติกลิตซ์ ว่าด้วยทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ ซึ่งเพิ่งวางตลาดไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน ยังคงดึงดูดความสนใจอย่างกว้างขวาง

โจเซฟ สติกลิตซ์ ระบุว่า ประเด็นโลกาภิวัตน์กลายเป็นศูนย์กลางการถกเถียงว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจอเมริกา โดยที่ฝ่ายหนึ่งตำหนิว่าโลกาภิวัตน์ทำให้คนชั้นกลางอเมริกันลำบาก และตามความเห็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ฝ่ายอเมริกาถูกนักเจรจาค้าของประเทศอื่นที่ฉลาดกว่าหลอกลวง จึงมีการเซ็นสัญญาการค้าแย่ ๆ ที่ทำให้คนอเมริกันสูญเสียงาน

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ เห็นว่าเหตุผลของฝ่ายแรกเหลวไหล พร้อมกับยืนยันว่าอเมริกาได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ การปกป้องการค้าต่างหากที่สร้างความเสี่ยงและทำให้ทั้งอเมริกาและโลกแย่ลง

สติกลิตซ์บอกว่า ตัวเขาเองนั้นวิจารณ์โลกาภิวัตน์มา 20 กว่าปีแล้ว แต่วิจารณ์ในแง่ที่ว่ามันถูก “บริหารจัดการ” อย่างไร ทั้งนี้ ในฐานะหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ชัดเจนว่ากฎการค้าโลกนั้นเอนเอียงไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่ออเมริกาและประเทศพัฒนาแล้ว บนความสูญเสียของประเทศกำลังพัฒนา และเป็นความจริงที่ว่าข้อตกลงการค้าไม่เป็นธรรมต่อ “ผลประโยชน์” ของสหรัฐและยุโรป และต่อ “ความเสียหาย” ของบรรดาประเทศกำลังพัฒนา

นัยของสติกลิตซ์ ก็คือในขณะที่อเมริกาโวยวายว่าข้อตกลงการค้าไม่เป็นธรรมนั้น ก็เพียงแค่ไม่เป็นธรรมต่อ “ผลประโยชน์” ของพวกตน คือยังได้ประโยชน์มากกว่า แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้น ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นถึงขั้นสร้างความ “เสียหาย” ทีเดียว

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า แนวคิดของทรัมป์ที่ว่าอเมริกาถูกประเทศคู่ค้าหลอกลวงเป็นเรื่องน่าหัวเราะ เพราะอเมริกาได้เกือบทุกอย่างที่ต้องการในการเจรจาการค้าปลายศตวรรษที่ 20 อย่างเช่น อเมริกาได้รับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากจะคัดค้าน ในขณะที่ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ได้รับการปกป้อง

สติกลิตซ์ยอมรับว่า โลกาภิวัตน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันตกงาน โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำ แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากผู้มีหน้าที่เจรจาการค้าของอเมริกาเอง ที่ทำข้อตกลงโดยเอาผลประโยชน์ของบรรษัทขนาดใหญ่เป็นหลักและอยู่บนความสูญเสียของแรงงาน ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่วิธีบริหารจัดการโลกาภิวัตน์

ไม่ใช่อยู่ที่โลกาภิวัตน์ในตัวมันเอง ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้ทำในสิ่งที่จะช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ไม่มีความโลภมากเกินไป โลกาภิวัตน์จะให้ประโยชน์แก่ทุกคน

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลระบุอีกว่า ดูเหมือนว่าตัวเขาเองและประธานาธิบดีทรัมป์จะอยู่ฝ่ายเดียวกันในสงครามต่อต้านโลกาภิวัตน์ แต่ผิดถนัด เพราะโดยพื้นฐานแล้วตนเชื่อในความสำคัญของ rule of law หรือระบบการค้า

ระหว่างประเทศที่ยึดกฎระเบียบเป็นหลัก แต่ทรัมป์กลับทำตรงข้าม เพราะเขาต้องการกลับไปสู่ rule of the jungle (กฎแห่งป่า) ที่เชื่อว่าสัตว์ตัวไหนแข็งแรงกว่าก็อยู่รอด

เมื่อเกิดข้อพิพาทการค้าแบบทวิภาคี ทรัมป์เชื่อว่าประเทศที่แข็งแรงกว่าจะรอด ทรัมป์ถูกชักนำให้เข้าใจผิดว่าเพราะอเมริกาแข็งแรงกว่าประเทศเดี่ยว ๆ อื่น ๆ ดังนั้น จึงคิดว่าจะชนะสงครามทั้งหมด และอเมริกาสามารถสร้างระบอบ (regime) การค้าระหว่างประเทศที่รับใช้ผลประโยชน์อเมริกา

แต่ทรัมป์พลาดจุดสำคัญยิ่งไป 2 ประการ 1.ทำไมประเทศเหล่านั้นจะยอมมาร่วมในระบอบการค้าที่เอาเปรียบพวกเขา สู้หันไปร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ

ที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นธรรมไม่ดีกว่าหรือ 2.ประเทศอื่น ๆ สามารถรวมตัวกันเพื่อต่อกรกับสหรัฐได้ เพราะอย่าลืมว่าขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาไม่ได้ใหญ่กว่าจีนหรือยุโรปนัก (ไม่นานเศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าอเมริกา 30%) หากจีนกับยุโรปจับมือกันต่อต้านสหรัฐ พลังอำนาจที่สหรัฐคิดว่าได้เปรียบจะหายไปอย่างรวดเร็ว

สติกลิตซ์สรุปว่า เราต้องการกฎการค้าโลกที่เป็นธรรมกว่าเดิมแน่นอน แต่สิ่งที่อเมริกาจำเป็นต้องมีที่สุดคือการบริหารจัดการโลกาภิวัตน์ที่ดีกว่าเดิม