โต๊ะเจรจา “ญี่ปุ่น-สหรัฐ” ฤๅสงครามการค้าคู่ใหม่ ?

ท่ามกลางความตึงเครียดของ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังคงร้อนระอุ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐยังคงเปิดศึกรอบด้าน ผ่านมาตรการทางการค้าที่กดดันให้หลายประเทศยอมทำตามความต้องการ รวมถึง “ญี่ปุ่น” คู่ค้าสำคัญของสหรัฐ

การเยือนยุโรปและอเมริกาเหนือรวม 6 ประเทศ ของนายกรัฐมตรี ชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ระหว่าง 22-29 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหารือและกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ ก่อนที่จะมีการจัดการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ (จี 20) ที่เมืองโอซากาของญี่ปุ่น ในเดือน มิ.ย.นี้

สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองก็คือ การเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้า เพราะทั้งสองประเทศต่างใช้มาตรการกำแพงภาษีตอบโต้ซึ่งกันและกัน จนทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

“รอยเตอร์ส” รายงานว่า ทริปการเยือนสหรัฐครั้งนี้ มีการหารือทวิภาคีโดยทรัมป์เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร อันเป็นสินค้าส่งออกหลักของสหรัฐ เนื่องจากญี่ปุ่นเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรสูงมาก

ขณะที่อาเบะได้ตอบโต้ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นได้ยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐ แต่สหรัฐก็ยังมีการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่นอยู่ถึง 2.5%

ก่อนหน้านั้นได้มีการหารือระหว่าง “โทชิมิซึ โมเตกิ” รัฐมนตรีกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และ “โรเบิร์ต ลิธเซอร์” ตัวแทนการค้าของสหรัฐ โดยญี่ปุ่นจะปรับลดภาษีสินค้าเกษตรลง ในระดับเดียวกับอัตราภาษีที่ญี่ปุ่นเรียกเก็บจากประเทศอื่น ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

นายอาเบะยังระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นได้ลงทุนในสหรัฐไปแล้วกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสมัยการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ในปี 2017

หลังการพบกันของสองผู้นำ ทรัมป์ได้ประกาศระหว่างหาเสียงที่กรีนเบย์ รัฐวิสคอนซินว่า ญี่ปุ่นมีแผนจะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐ มูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากที่สหรัฐเคยกดดันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นให้เพิ่มการลงทุนและการจ้างงาน ด้วยการขู่ว่าจะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าเป็น 25% ซึ่งเป็นความพยายามแก้ปัญหาการว่างงานที่สูงของรัฐบาลทรัมป์

แม้ว่าการหารือระหว่างสองผู้นำจะยังไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน แต่ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “โตโยต้า มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ประกาศจะลงทุนเพิ่มในสหรัฐอีก 30% หรือ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2021 แผนการลงทุนใหม่นี้จะสร้างงาน 600 ตำแหน่งในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยืนยันว่าจะเดินหน้าหารือกันต่อไปเพื่อสร้างดุลทางการค้า รวมถึงการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยทรัมป์กล่าวว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงทวิภาคีได้ในการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ค.นี้

เมื่อเทียบกับการเยือน “แคนาดา” ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มุ่งปรับปรุงข้อตกลง “CPTPP” ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2017 หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกไป ถือว่ามีสัญญาณการเจรจาที่ดีกว่า “ญี่ปุ่นกับสหรัฐ”

โดยนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา ระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวทำให้การส่งออกเนื้อวัวของแคนาดาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า นับว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งแคนาดาและญี่ปุ่น ครอบคลุมถึงภาคธุรกิจและประชาชนในภูมิภาค ทั้งยังกล่าวว่า “จุดยืนของเราอยู่ตรงข้ามการถอนตัวของอเมริกา” ขณะที่นายอาเบะชี้ว่า ข้อตกลง CPTPP ควรเป็นต้นแบบของการค้าเสรีและเป็นธรรมแห่งศตวรรษที่ 21

แม้ว่าการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐผ่านไปด้วยดี แต่ท่าทีที่แตกต่างของการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐและแคนาดา ต้องรอพิสูจน์ว่า นโยบายเอกเทศของทรัมป์จะสามารถแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐได้หรือไม่ เพราะหลายประเทศก็ต่างหันมาแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในโลกปัจจุบัน