“ศรีลังกา” ออกหน้าแทน “จีน” OBOR ไม่ใช่บ่อเกิด “กับดักหนี้”

เสร็จสิ้นไปอย่างราบรื่นกับการประชุม “Belt and Road Forum” ครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 25-27 เม.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผลักดันยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่นี้ โดยมุ่งเชื่อมเส้นทางการค้าทั้งทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาเหนือ

หนึ่งในคำกล่าวที่น่าสนใจของ “สี จิ้นผิง” ที่ยืนยันอย่างหนักแน่นในที่ประชุมต่อหน้าผู้นำจาก 36 ประเทศ และผู้แทนจาก 150 ประเทศ ย้ำว่า โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ยึดหลัก “win-win” กับชาติพันธมิตรเสมอ ทั้งดำเนินการโปร่งใส และสร้างความยั่งยืนทางการเงิน

บีบีซีตั้งข้อสังเกตว่า นัยสำคัญในคำกล่าวของสี จิ้นผิง เป็นการส่งสารโดยตรงถึงคำวิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่ต่างวิเคราะห์ว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ OBOR เป็นการสร้าง “กับดักหนี้” ให้กับหลายประเทศที่เข้าร่วม

ก่อนหน้านี้ศูนย์เพื่อการพัฒนาระดับนานาชาติ (CGD) ในกรุงวอชิงตัน พยายามโจมตีโครงการ OBOR โดยระบุว่ามี 8 ประเทศที่เสี่ยงแบกรับภาระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดมหึมา ได้แก่ สปป.ลาว ปากีสถาน จิบูตี มัลดีฟส์ มองโกเลีย มอนเตเนโกร ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน

ขณะเดียวกัน บรรดานักวิเคราะห์มักหยิบยกกรณีของ “ศรีลังกา” ที่กู้เงินจากรัฐบาลจีนเพื่อนำไปสร้างโครงการท่าเรือและสนามบินมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อมาชำระเงินกู้ได้ โดยสนามบินมัตตาลามีเที่ยวบินมาลง 1 เที่ยว/วันเท่านั้น ส่วน “ท่าเรือฮัมบันโตตา” ก็มีแค่จีนชาติเดียวที่เข้ามาใช้บริการ จนปัจจุบันศรีลังกาให้สิทธิบริษัทจีนเช่าท่าเรือได้นานถึง 99 ปี

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของศรีลังกา 2 คน ได้แก่ ดุสะนี วีราคูน และ ซิซิรา  จายาสุริยา ยืนยันกับ “แชนเนลนิวส์เอเชีย” ว่า หนี้สินต่างประเทศของศรีลังกาเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 ไม่ได้มาจากนโยบาย “เมดอินไชน่า” ที่รวมถึงโครงการ OBOR

“ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของศรีลังกาเกี่ยวข้องกับจีนน้อยมากเพียง 10% จากยอดหนี้สินต่างประเทศทั้งหมด บทวิเคราะห์ และนักเศรษฐศาสตร์จากทั่วโลกเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ของเราในตอนนี้”

นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 ยังกล่าวอีกว่า “เงินกู้จีน” เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการให้กู้แบบผ่อนปรนและมีเงื่อนไขที่สมเหตุสมผล โดยทั่วไปรัฐบาลจีนจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2%, ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 0.5% และระยะเวลากู้เฉลี่ย 15-20 ปี พร้อมระบุว่า หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), เวิลด์แบงก์

รวมถึงสหรัฐและญี่ปุ่น ที่มีข้อบังคับการกู้เงินต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” (Washington Consensus) บีบบังคับให้ลูกหนี้ต้องนำมาตรการรัดเข็มขัด หรือต้องไม่ให้เกิดภาวะขาดดุลงบประมาณเพื่อให้สามารถชำระหนี้คืนได้ เรียกว่าเป็นการออกมาปกป้องรัฐบาลจีน และโยนปัญหากลับไปที่กลุ่มเจ้าหนี้ชาติตะวันตก

นักเศรษฐศาสตร์ศรีลังกายังได้อ้างว่า นายโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ที่กล่าวถึงเงื่อนไขของแนวทางฉันทมติแห่งวอชิงตัน ว่าเป็นการบังคับให้ลูกหนี้ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาต้องจ่ายคืนเงินกู้ก่อนที่จะนำไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งศรีลังกาและชาติในแอฟริกากำลังเผชิญอยู่

ขณะที่รายงานข่าวของแชนเนลนิวส์เอเชียระบุว่า การประชุม OBOR เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับดีมาก สอดคล้องกับคำกล่าวของรัฐบาลจีนที่ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมและแสดงความสนใจในโครงการแห่งศตวรรษเพิ่มขึ้นเป็น 115 ประเทศ จาก 65 ประเทศ ตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 6 ปีก่อน

รายงานข่าวยังอ้างคำกล่าวของนักวิเคราะห์จากอิตาลีและศรีลังกา ที่ระบุในทำนองเดียวกันว่า OBOR คือ “โอกาสและความหวัง” ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรง และจะไม่มีทางเสียเปรียบจีนตามคำตักเตือนแน่นอน หากศึกษาทุกเงื่อนไขอย่างโปร่งใส และประเทศยุโรปก็น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้เพราะทำให้เข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนภายในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)