ตำรวจจีนใช้ “แอพ” สอดส่องชนกลุ่มน้อย “อุยกูร์”

(AFP/Jiji)

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า “ฮิวแมนไรท์วอทช์” เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ตำรวจจีนใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์พกพาเพื่อการสอดส่องและเก็บข้อมูลชนกลุ่มน้อย “อุยกูร์” กว่า 1 ล้านคนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ตามรายงานของระบุว่า มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมาเพื่อสอดส่อง บันทึกและจัดเก้บข้อมูลความเคลื่อนไหวของผู้คนอย่างใกล้ชิด โดยจำแนกพฤติกรรมที่เป็นอันตรายเรียกว่า “บุคคล 36 ประเภท” อาทิ คนที่ไม่ค่อยออกจากบ้านหรือไม่ค่อยใช้ประตูหน้าบ้าน ผู้ที่ใช้ไฟฟ้ามากผิกปกติ ผู้ที่มีคนรู้จักในต่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการจีน

อย่างไรก็ตาม รายงานไม่ได้ระบุว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดเป็นเป้าหมายของการสอดส่องเป็นพิเศษ แต่หนึ่งใน “บุคคล 36 ประเภท” ที่แอพพลิเคชั่นจับตามองคือ อิหม่ามหรือผู้นำทางศาสนาอิสลามที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางการ รวมผู้ศรัทธาในคำสอนวะฮาบีย์ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาอิสลาม

โดยข้อมูลที่ตรวจพบจากแอพพลิเคชั่นจะถูกนำมารวบรวมในระบบกลางที่เรียกว่า “Integrated Joint Operations Platform (IJOP)” ซึ่งเป็นระบบเผ้าระวังหลักในซินเจียง

“Maya Wang” นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในที่สาธารณะต่าง ๆ อย่าง ท้องถนน ปั๊มน้ำมัน และโรงเรียน เพื่อส่งข้อมูลไปตรวจสอบพฤติกรรมที่ “ผิดปกติ” ก่อนที่จะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้นำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวไปวิเคราะห์ร่วมกับ “Cure53” ซึ่งเป็นบริษัทด้านความปลอดภัยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในจีน ซึ่ง “สหประชาชาติ” ระบุว่ามีรายงานที่พบว่ามีคนกว่า 1 ล้านคนที่ถูกกักขังในค่ายกักกันในซินเจียง ซึ่งจีนใช้เรียกว่า “ศูนย์การศึกษาใหม่” ทั้งนี้ในพื้นที่ซินเจียงมีชาวมุสลิมอุยกูร์อาศัยราว 45 % ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่

หลายปีที่ผ่านมา มีการพบการสร้างค่ายกักกันในพื้นที่ซินเจียงหลายแห่ง แต่ทางการจีนอ้างว่าเป็นเพียง “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ที่ให้ความรู้แก่คนท้องถิ่น และปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวอุยกูร์ไม่ให้มีแนวคิดใช้ความรุนแรงแบ่งแยกดินแดนออกจากจีน

ทั้งนี้จีนตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศที่มี “เครือข่ายกล้องวงจรปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยปัจจุบันจีนมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดราว 170 ล้านตัว และภายในสิ้นปี 2020 จะเพิ่มจำนวนเป็นประมาณ 400 ล้านตัวทั่วประเทศ