เบื้องลึก “Tech War” “สหรัฐ” หวาดผวา “จีน”

ความโกลาหลจาก “สงครามการค้า” ที่ลุกลามไปถึง “โลกเทคโนโลยี” ยิ่งสะท้อนว่า “สหรัฐอเมริกา” กำลังหวาดกลัว “จีน” จนต้องงัดมาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้จีนขึ้นแท่นเป็น “เจ้าแห่งเทคโนโลยี”

ความหวาดกลัวของสหรัฐอเมริกาต่อ “จีน” ยืนยันได้จากการสำรวจในปี 2018 โดย “สำนักวิจัยพิว” ของสหรัฐ ที่ระบุว่า ชาวอเมริกัน (รวมถึงภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม) มีมุมมองไม่ดีต่อจีนเพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2007 เพิ่มเป็น 55% ในปี 2018 และคาดว่าในปี 2020 อาจเพิ่มเป็น 60-65%

นักวิเคราะห์ของ “พิว” อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้สหรัฐเริ่มเปิดฉากสงครามการค้ากับจีน ส่วนหนึ่งเพราะจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เร็วที่สุดในโลก ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่า ภาคธุรกิจจีนบีบคั้นให้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้

เช่นเดียวกับมุมมองของ “มิลตัน เอซ์ราติ” นักเศรษฐศาสตร์ของ Vested บริษัทวิจัยการตลาดในนิวยอร์ก ที่ระบุว่า นอกจากสหรัฐไม่พอใจในวิธีการทำธุรกิจของจีน รวมถึงปัญหาการขาดดุลการค้า สหรัฐเริ่มรู้สึกว่าเทคโนโลยีของจีนกำลังท้าทายความมั่นคงภายในประเทศ โดยเอซ์ราติกล่าวว่า สงครามโลกต่อจากนี้ จะไม่ใช่สงครามทางเศรษฐกิจอย่างที่เคยเห็น แต่กำลังพัฒนาเป็นสงครามในรูปแบบไร้สาย หรือ “สงครามเทคโนโลยี”

บลูมเบิร์กรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2015 จีนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ ด้วยการควบรวมและซื้อกิจการบริษัทต่างชาติทั่วโลกเพื่อเป็น “ทางลัด” ให้จีนกลายเป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าการลงทุนระดับโลก

โดยเฉพาะการซื้อกิจการของจีนในสหรัฐ เช่นที่ผ่านมา กลุ่ม บริษัท HNA เข้าซื้อเทคโนโลยีของสหรัฐ จากบริษัท อินแกรม ไมโคร มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, บริษัท Qingdao Haier ซื้อธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก General Electric (GE) และ Anbang Insurance Group ซื้ออสังหาริมทรัพย์จาก Strategic Hotels จำนวน 15 แห่ง

ไม่เพียงแค่ในสหรัฐ แต่จีนยังเป็นนักเทกโอเวอร์และควบรวมกิจการรายใหญ่ของโลกด้วย ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นรายชื่อบริษัทจีนที่เทกโอเวอร์และเข้าซื้อกิจการทั่วโลก ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกี่ยวโยงกับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี

สี จิ้นผิง และยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่ตั้งเป้าว่า “จีนจะครองตลาดใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง”

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนอัดฉีดงบประมาณสำหรับการวิจัยด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยในปี 2018 ใช้งบฯในส่วนนี้มากถึง 2.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 70.2% เทียบกับปี 2012

และหลักฐานที่แสดงว่า จีนก้าวหน้าในการพัฒนาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คือ ผลการสำรวจของ “ฟอร์บส” สำหรับ 20 บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของโลกในปี 2018 ในแง่ของมูลค่าทางการตลาด พบว่ามีบริษัทสัญชาติอเมริกัน 12 ราย และบริษัทของจีน 8 ราย ที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับปี 2013 มีบริษัทจีนเพียง 3 ราย ขณะที่สหรัฐมี 13 บริษัท

ตัวอย่างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้ก่อนสหรัฐ โดย “เบน วูด” หัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัท CCS Insight มองว่า สหรัฐเป็นตลาดเสรี จึงมีการแข่งขันกันสูงระหว่างผู้เล่น และแข่งขันกันในด้านการลงทุน 5G ขณะที่จีนไม่ต้องแข่งขันกับใคร ทั้งรัฐบาลอุดหนุนงบทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาร่วมกัน

“ความสำเร็จสูงสุดของโลกเทคโนโลยี สามารถวัดได้จากหลายสิ่ง เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และยานยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จีนล้วนมีครบครัน ดังนั้น ความไม่สามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับจีน” เบน วูด กล่าว

ความรุดหน้าในเทคโนโลยี 5G ของจีน เห็นได้จากบริษัท หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม สามารถดึงดูดได้ทั้งในแง่ราคาและคุณภาพ ที่ผ่านมาทำให้หลายประเทศทั่วโลกประกาศเลือกใช้อุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ย แม้แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของสหรัฐเองก็ยอมรับว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่หัวเว่ยจะมีส่วนแบ่งตลาด 5G มากที่สุดในโลกจึงเป็นที่มาของการเปิดฉากสงครามเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการของสหรัฐ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ใต้พรมของสงครามการค้า และสงครามชิงเจ้าแห่งเทคโนโลยี เกิดจากสหรัฐต้องการ “แยก” ห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยืนยันชัดเจนว่า มีการตั้งรับเกมครั้งนี้ไว้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย สอดคล้องกับที่ “เหอ จงหย่า” หัวหน้าแผนกวิศวกร บริษัท Suzhou Osaitek Photoelectric Technology

ผู้พัฒนาเทคโนโลยีจอสัมผัสของจีน กล่าวกับ “ซีเอ็นเอ็น” ว่า วิกฤตต่าง ๆ ระหว่างจีนกับสหรัฐ จะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้บริษัทจีนกับรัฐบาลจีน ต้องเร่งยกระดับสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการแข่งขันกันมากขึ้น


ทั้งยังย้ำว่า “วิกฤตจะจูงใจให้จีนพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าที่เคยเป็น”