3 ชาติอาเซียนถูกจับตา เกม “ทรัมป์” กดดันพญามังกร

วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมากระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานรอบครึ่งปีแรก 2019 โดยเพิ่มบัญชีรายชื่อประเทศที่เข้าข่ายต้องจับตา (watch list) เกี่ยวกับนโยบายค่าเงิน จาก 6 ประเทศเป็น 9 ประเทศ โดยนักวิเคราะห์มองว่า มี 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม อาจจะถูกหางเลขถูกขึ้นบัญชีดำ ฐานมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ดีกับจีน

บลูมเบิร์ก ระบุว่า ในจำนวนประเทศคู่ค้าของสหรัฐจากทั้งหมด 21 ประเทศ กระทรวงการคลังชี้ว่า มี 9 ชาติที่เข้าข่ายต้องถูกจับตามองใกล้ชิด ได้แก่ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ อิตาลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ สหรัฐใช้เกณฑ์การเฝ้าติดตามก่อนพิจารณาว่าจะขึ้นแบล็กลิสต์คู่ค้ารายไหน ประกอบด้วย 1.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐ 2% ของจีดีพี จากเดิมที่กำหนดไว้ 3% 2.การแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงิน เช่น ใช้เงินซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิ เทียบเท่ากับ 2% ของจีดีพี และ 3.การเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“คิม ฮวาน” นักเศรษฐศาสตร์ของ NH Investment & Securities ในกรุงโซล ระบุว่าเป็นไปได้ว่า สาเหตุที่กระทรวงการคลังสหรัฐเพิ่มรายชื่อ 3 ประเทศสมาชิกอาเซียน ในจำนวนทั้งหมด 9 ประเทศ ในรายชื่อวอตช์ลิสต์ เพราะต้องการกดดันจีน เนื่องจากทั้งสิงคโปร์ มาเลเซียมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับจีน โดยเฉพาะเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับจีนมาก

สอดคล้องกับ “คริสตี้ ตัน” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาดธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย วิเคราะห์ว่า 3 ชาติอาเซียนถูกดึงเข้าไปอยู่ใน “เกมกดดันจีน”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกำลังขาดดุลการค้ากับคู่ค้าหลายประเทศ โดยทรัมป์เคยอ้างว่าภาวะการขาดดุลทางการค้าสะสมของสหรัฐเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา

“เดอะ สตาร์” สื่อมาเลเซียรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามต้องถูกเฝ้าติดตามในรายงานของสหรัฐ เป็นเพราะทั้ง 3 ประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐ มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดทั้งสิ้น เป็นเหตุผลหลักทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องใช้ไม้แข็ง

โดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า “สิงคโปร์” เกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐในปี 2018 มูลค่าสูงถึง 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และซื้อสกุลเงินต่างประเทศสุทธิอย่างน้อย 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 4.6% ของจีดีพี เพื่อให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลง ให้ได้เปรียบในการส่งออกแต่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ตอบโต้ว่า สิงคโปร์ไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน

เพื่อผลประโยชน์ในการส่งออก แต่นโยบายการเงินของสิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาในระยะกลาง

นอกจากนี้การจงใจลดค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น กระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา จึงไม่มีเหตุผลที่จะแทรกแซงค่าเงิน

ส่วน “มาเลเซีย” สหรัฐอ้างว่า เกินดุลการค้ากับสหรัฐ 26,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐ 2.1% ของจีดีพี อีกทั้งยังขายสกุลเงินต่างชาติสุทธิ 3.1% ของจีดีพี เพื่อพยุงค่าเงินริงกิตไม่ให้อ่อนค่า

สำหรับ “เวียดนาม” ถูกระบุว่า เข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ ปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเวียดนามที่บ่งชี้ว่าพยายามแทรกแซงค่าเงินให้เงินด่องอ่อนค่าลง และนับตั้งแต่ปลายปี 2018 เวียดนามส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากขึ้น

นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยโนมูระ มองว่าการส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐที่เพิ่มขึ้น เป็นอานิสงส์จากสงครามการค้า ที่ผ่านมามีบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติในจีนย้ายโรงงานผลิตไปเวียดนามมาก

ทั้งนี้ วันที่ 29 พ.ค. 2019 สำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐ ระบุไตรมาสแรกของปีนี้สหรัฐนำเข้าสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 40.2% เทียบกับปีก่อนหน้านี้ และมีแนวโน้มจะนำเข้ามากขึ้นปีนี้ ขณะที่ได้นำเข้าสินค้าจาก “เกาหลีใต้” เพิ่มขึ้น18.4% เนื่องจากสหรัฐมีคำสั่งให้ลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลง 13.9% เพื่อตอบโต้สงครามการค้าระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐเป็นเพียงคำเตือนให้ “เฝ้าระวัง” ไม่ได้หมายถึงรายชื่อประเทศที่มีการ “ปั่นค่าเงิน” (currency manipulator) แต่มีนัยสำคัญทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องปรับท่าทีและบทบาทใหม่ ในฐานะประเทศคู่ค้ากับสหรัฐ ขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาความเป็นพันธมิตรกับจีนด้วย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ