ผู้บริโภคทั่วโลกส่อรับกรรม พิษ Tech War จีน-มะกัน

โดย นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากการเจรจารอบล่าสุด 9-10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ล่มอย่างไม่เป็นท่า ผิดจากความคาดหมายอย่างมาก ก็ดูเหมือนไม่มีนักวิเคราะห์รายใดจะกล้าทำนายอย่างมั่นใจอีกว่า สหรัฐและจีนจะยุติสงครามการค้าได้เมื่อใด เพราะรอบล่าสุดดังกล่าว ถือว่าเป็นรอบที่ใกล้ความจริงมากที่สุด มีโอกาสจะสำเร็จมากที่สุด

กระนั้นก็ตาม อลาสแตร์ นิวตัน ผู้อำนวยการ บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง อลาแวน บิสซิเนส แอดไวซอรี และอดีตทูตอังกฤษ ประเมินว่า สหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า โดยเชื่อว่าผู้นำทั้งสองประเทศจะใช้เวทีประชุมกลุ่มประเทศ จี-20 ที่ญี่ปุ่น ปลายเดือนมิถุนายน เปิดเจรจากันอีกรอบ ก่อนจะไปสู่ข้อสรุปสุดท้ายในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะสามารถบรรลุข้อตกลงด้านสินค้า แต่มีแนวโน้มว่าการต่อสู้ด้านเทคโนโลยีจะยังดำเนินต่อไป

ดังนั้นความตึงเครียดจะไม่หมดไปสงครามการค้า (trade war) ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี (tech war) นี้ หากยกระดับไปถึงจุดที่จีนและอเมริกาแบ่งเทคโนโลยีโลกออกเป็น 2 ขั้ว ผลเสียไม่ได้ตกอยู่กับสองประเทศเท่านั้น แต่ผู้บริโภคทั้งโลกจะเป็นฝ่ายรับเคราะห์ไปเต็ม ๆ เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีจะแพงขึ้น และสร้างความยุ่งยากในการใช้อุปกรณ์ เช่น ผู้บริโภคอาจจะต้องมีสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 2 เครื่อง

มเหนทรา เนกี ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน เทรนด์ไมโคร ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ชี้ว่าหากสงครามเทคโนโลยีระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน ดำเนินไปเรื่อย ๆ และจบลงด้วยการที่แต่ละฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เซตหนึ่งสำหรับจีนและแนวร่วม เซตหนึ่งสำหรับอเมริกาและแนวร่วม นั่นจะเป็นข่าวร้ายสำหรับทุกคน เพราะต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีจะแพงขึ้น และภาระต้นทุนจะถูกผลักไปที่ผู้บริโภค

นอกจากนี้จะส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีของแต่ละประเทศทั่วโลกพัฒนาชิ้นส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาชิ้นส่วนเข้ากันไม่ได้ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคอาจต้องซื้อสมาร์ทโฟนหลายเครื่อง เครื่องหนึ่งสำหรับใช้ในจีน อีกเครื่องสำหรับใช้นอกประเทศจีน

“เราได้แต่หวังว่าปัญหาการค้าที่ดำเนินอยู่นี้ จะไม่พัฒนาไปในทิศทางที่แต่ละฝ่ายแยกขั้วเทคโนโลยีออกจากกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดอุปสรรคในการถ่ายเทข้อมูลและการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งหมดจะถดถอย”

มุมมองของมเหนทรา เนกี สอดคล้องกับหลาย ๆ คนก่อนหน้านี้ที่เตือนว่า หากสองประเทศยักษ์ใหญ่ยังคงไม่ลงรอยกัน มีแนวโน้มว่าในอนาคต อินเทอร์เน็ตโลกจะแยกเป็น 2 ขั้ว คือขั้วของอเมริกาและจีน

สำหรับความเคลื่อนไหวของจีนเพื่อตอบโต้กรณีที่สหรัฐขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของจีนนั้น มีหลายมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีให้จีนหยิบมาใช้ เพราะการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐในขั้นนี้ถือว่าจีนยังเสียเปรียบ เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าสหรัฐ น้อยกว่าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนเกือบ 4 เท่า

ล่าสุด โกลบอล ไทมส์ สื่อที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาลจีนรายงานว่า รัฐบาลกำลังร่างกฎระเบียบใหม่เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในธุรกิจจัดเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และห้ามถ่ายโอนข้อมูลผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งขอให้บริษัทต่าง ๆทั้งที่เป็นบริษัทท้องถิ่นและต่างชาติต้องส่งมอบข้อมูลให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวถูกมองว่ามีเป้าหมายเล่นงานบริษัทอเมริกันอย่าง กูเกิล และไมโครซอฟท์


เหลียง ไห่หมิง อธิการบดีมหาวิทยาลัยไห่หนาน ชี้ว่า กฎระเบียบนี้จำเป็นสำหรับจีน เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศทรงอำนาจใหญ่ ๆ ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา รัสเซีย และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณว่า จีนไม่ยอมสยบต่อแรงกดดันของสหรัฐ ที่ขอให้เปิดทางแก่บริษัทอเมริกันในการเข้าถึงตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing)