เมื่อ “ซัมซุง” กับเกาหลีใต้ เลือกยืนข้าง “หัวเว่ย-จีน”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การเดินทางเยือนที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่สุดหรูหรานอกมหานครเสิ่นเจิ้น ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ยักษ์ใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีและโทรคมนาคมจีน โดยนักการเมืองและผู้นำ ผู้บริหาร บริษัทธุรกิจใหญ่น้อยจากเกาหลีใต้ รวม ๆ แล้วกว่า 100 คน ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก ที่น่าแปลกก็คือ การเดินทางเยือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกา เคลื่อนไหวขึ้นบัญชีดำ หัวเว่ย ห้ามทำธุรกิจกับบริษัทเอกชนอเมริกันได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นเอง

การเดินทางเยือนหัวเว่ยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีความร่วมมือกับจีน ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเทคโนโลยีที่แนบแน่นยิ่งขึ้นระหว่างจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชีย กับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย

แม้จะเป็นการดำเนินการตามที่เตรียมการเอาไว้ก่อนแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงการตัดสินใจของรัฐบาลและธุรกิจเอกชนของเกาหลีใต้ ที่จะเมินเฉยต่อความพยายามผลักดันให้บรรดาบริษัทธุรกิจทั้งหลายทั่วโลก ตัดขาดการทำธุรกิจกับหัวเว่ย เหมือนกับที่บริษัทอเมริกันดำเนินการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาบริษัททางด้านเทคโนโลยีน้อยใหญ่ระงับการขายชิ้นส่วนและซอฟต์แวร์ให้กับหัวเว่ย ในขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายในหลายประเทศ ชะลอการเปิดตัวสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยตามมา แต่ทั้งผู้บริหารบริษัทธุรกิจและนักการเมืองเกาหลีใต้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีทางอื่นที่เหมาะสมให้เลือกน้อยมาก นอกจากจะทำธุรกิจกับจีนต่อไปตามปกติ เหมือนที่เคยเป็นมา

หนึ่งในจำนวนผู้บริหารที่เดินทางเยือนหัวเว่ยในครั้งนี้ คือ “ยูน บู-คยอน” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซัมซุง คู่แข่งโดยตรงของหัวเว่ย ในธุรกิจสมาร์ทโฟนระดับโลก และเป็นเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ถูกระบุว่า จะได้ผลประโยชน์โดยตรงจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ซัมซุง ที่ได้ชื่อว่าเป็นแชมเปี้ยนที่ประสบความสำเร็จทางเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ อาจได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งการตลาด แต่ผลรวมที่ได้อาจพอ ๆ กับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการขาดหายไปของลูกค้าอย่างหัวเว่ย ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดสำหรับชิปหน่วยความจำของซัมซุง นอกจากนั้น ซัมซุงเองก็มีโรงงานผลิตอยู่เป็นจำนวนมากในจีนด้วยอีกต่างหาก

มิน บยุง-ดู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ จากพรรคประชาธิปไตย ที่เป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรุ๊ปทัวร์ครั้งนี้ ยืนยันว่า ถึงจะเป็นคู่แข่งกันโดยตรง แต่ซัมซุงกับหัวเว่ย ก็ยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญซึ่งกันและกัน โดยภาพรวมจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ดูดซับสินค้าออกของเกาหลีใต้ไปถึง 26.8 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าออกทั้งหมดเมื่อปี 2018 ในขณะที่เกาหลีใต้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าออกทั้งหมดเท่านั้น

เฉพาะหัวเว่ยเพียงบริษัทเดียวก็ซื้อสินค้าจากเกาหลีใต้ รวมแล้วเป็นมูลค่าสูงถึง 10,700 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ของยอดรวมการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนทั้งหมดบริษัทอย่าง เอสเค ไฮนิกซ์ ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจากเกาหลีใต้ ก็ยึดถือหัวเว่ยเป็น “ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด” ของตนเอง

นักวิชาการอย่าง ฮัน ซุก-ฮี ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษา ประจำมหาวิทยาลัยยอนเซ ซึ่งเคยเป็นกงสุลเกาหลีใต้ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า เกาหลีใต้ไม่สามารถประคองตัวเป็นกลางอยู่ได้ภายในสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างพันธมิตรด้านความมั่นคงฝ่ายหนึ่ง กับประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอีกฝ่ายหนึ่ง ในไม่ช้าไม่นานก็ต้องเลือกว่าจะยืนข้างสหรัฐอเมริกา หรือจีนเพราะเชื่อว่าอีกไม่นาน สหรัฐอเมริกาก็จะไม่เพียงแค่ขอไม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยเท่านั้น แต่จะยังขอให้เกาหลีใต้เลิกขายผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ให้กับจีนอีกด้วย

รอยเตอร์สระบุว่า ได้สอบถามประเด็นนี้กับแหล่งข่าวในรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งใกล้ชิดกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศรายหนึ่ง คำตอบที่ได้ก็คือ

“ขอโทษนะ เกาหลีใต้ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา ไม่สามารถทำอย่างเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกากำลังกระทำต่อจีนอยู่ในเวลานี้ได้”

“เราไม่สามารถสรุปอะไรง่าย ๆ อย่างนั้นได้”