กลายเป็นฝันร้ายของ “อินเดีย” หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้ตัดสิทธิอินเดียออกจากโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2019 ฝั่งอินเดียระบุว่ามี 5 ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอินเดียจะเร่งหารือกับสหรัฐก่อนพิจารณาเปิดศึกตอบโต้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุผลการพิจารณาประจำปีว่า ตัดสินใจริบสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมดที่เคยให้แก่ “อินเดีย” ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจอินเดียเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง จึงถือว่าไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิอีกต่อไป
นายทรัมป์ชี้ว่า “อินเดียไม่สามารถรับประกันได้ว่า สินค้าสหรัฐจะสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียได้อย่างยุติธรรม ขณะที่สหรัฐเปิดกว้างต่อคู่ค้ารายนี้”
“บิสซิเนส สแตนดาร์ด” ของอินเดีย รายงานว่า โครงการสิทธิ GSP ของสหรัฐมีข้อกำหนดเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ ระดับการพัฒนาประเทศ, การเปิดเสรีตลาดสินค้าบริการ, คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, คุ้มครองสิทธิแรงงาน, นโยบายด้านการลงทุน และสนับสนุนต่อต้านการก่อการร้าย
เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงพาณิชย์อินเดีย กล่าวว่ารัฐบาลกำลังหาทางแก้ปัญหา คาดว่าจะเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างอินเดียกับสหรัฐก่อน โดย “ปิยูช โกยาล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่จะเป็นผู้เจรจา หากการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี อินเดียพร้อมจะแก้ไขการดำเนินการต่าง ๆ
“คเณศ คูมาร์ คุปตะ” ประธานสหพันธ์การส่งออกอินเดีย (FIEO) กล่าวว่า การที่อินเดียถูกริบสิทธิน่าจะมีเหตุผลสำคัญเพียงอย่างเดียว คือ การค้าที่ไม่เป็นธรรม สหรัฐเลือกที่จะเดินเกมเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกเอาเปรียบ เป็นการสานนโยบาย “อเมริกันมาก่อน”
ก่อนหน้านี้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า อินเดียเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยปี 2018 มูลค่าสินค้าส่งออกของอินเดียไปสหรัฐโดยปลอดภาษีอยู่ที่ 6,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเคยระบุด้วยว่า รายชื่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีมูลค่าการส่งออกมายังสหรัฐมากที่สุด 5 อันดับแรก ภายใต้สิทธิ GSP ได้แก่ อินเดีย ไทย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ในปี 2018 สหรัฐได้ตัดสิทธิ GSP สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ 11 รายการ จาก 3,400 รายการ พร้อมกับอีก 15 คู่ค้าของสหรัฐ แต่เป็นการยกเลิกสิทธิพิเศษบางรายการเท่านั้น
FIEO เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2019 ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอินเดียจากการถูกตัดสิทธิ GSP มี 5 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เครื่องประดับและอัญมณี, ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง, เวชภัณฑ์, เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ธุรกิจเครื่องประดับและอัญมณีใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีศุลกากร ภายใต้โครงการ GSP ราว 6.9% ของสินค้าอินเดียที่ส่งออกไปสหรัฐส่วน “เครื่องหนัง” อยู่ที่ 6.1%, สินค้าเวชภัณฑ์ 5.9% และ 4.8% เป็นสินค้าเกษตรและเคมีภัณฑ์
“สินค้าประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP มากกว่า 3% ขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในแง่ของต้นทุนที่สูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขัน” ประธาน FIEO กล่าว
“วิลเบอร์ รอส” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ มองว่า การตัดสิทธิ GSP ต่ออินเดียเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับคู่ค้าอื่น เช่น ประเทศเอเชียที่ส่งออกสินค้าใกล้เคียงกัน รวมถึง “จีน” แม้สงครามการค้ายังไม่ยุติ แต่บางอุตสาหกรรมจีนยังคงได้เปรียบ
อย่างไรก็ตาม อินเดียประกาศว่าหากการเจรจาไม่บรรลุผล รัฐบาลจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ คาดว่าจะมีกว่า 20 รายการ รวมถึงสินค้าเกษตรและเคมีภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐด้วย
การถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ เป็นความท้าทายใหญ่ของ “นเรนทรา โมดี” ที่เพิ่งรับชัยชนะนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียในสมัยที่ 2 เพราะนอกจากต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความยากจนแล้ว ยังต้องรับมือกับเกมของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก เพื่อไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ แต่อินเดียจะเดินหมากอย่างไรยังสรุปไม่ได้ และยังต้องติดตามกันต่อไป