ชาติเอเชีย “หูทวนลม” เมิน “สหรัฐ” บีบแบน “หัวเว่ย”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

การประชุมประจำปีด้านความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิกที่สิงคโปร์ ซึ่งปิดฉากไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ถูกตั้งข้อสังเกตว่าปีนี้แปลกไปกว่าเดิม เพราะปกติแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปีแบบเดาได้ล่วงหน้าก็คือ สหรัฐและชาติพันธมิตรจะตั้งแก๊งรุมสกรัมจีน ในขณะที่จีนคล้ายจะโดดเดี่ยว ต้องคอยเป็นฝ่ายรับมือข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในประเด็นความมั่นคงของภูมิภาคแต่ปีนี้ดูเหมือนจีนจะรู้สึกประหลาดใจและสบายใจขึ้นทีเดียว เมื่อบรรดาผู้นำเอเชียต่างพากันรุมวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ที่มุ่งโจมตีจีน ทั้งเรื่องการขึ้นภาษีสินค้าและการเล่นงานบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่

“หัวเว่ย” เช่น ประธานาธิบดีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ที่กล่าวเปิดประชุมด้วยการเรียกร้องให้สหรัฐส่งเสริมการเติบโตของจีน ขณะเดียวกันก็ไม่เน้นกล่าวถึงภัยคุกคามจากหัวเว่ยที่สหรัฐกล่าวอ้างเช่นเดียวกับรัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์ ที่ระบุว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา แม้ระเบียบโลกที่เราใช้อยู่จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ช่วยรับประกันสันติภาพและความเจริญก้าวหน้า แต่ขณะนี้ระเบียบโลกตกอยู่ในความเสี่ยง จะเป็นเรื่องโง่เขลาอย่างมหันต์หากโยนสิ่งดี ๆ ทิ้งไปทั้งที่หลีกเลี่ยงได้

การเปิดศึกการค้าและศึกโทรคมนาคมของจีนและสหรัฐ เพิ่มความหวาดกลัวในกลุ่มประเทศเอเชียว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อพวกตนโดยเฉพาะประเทศเล็กที่พึ่งพาการส่งออกเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต แม้ว่าชาติเอเชียเหล่านี้จะมองเห็นความจำเป็นที่สหรัฐต้องถ่วงดุลจีน แต่พวกเขาก็หวาดระแวงเช่นกัน เพราะมองว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไปไกลเกินไปในการพยายามหยุดยั้งการผงาดของจีน

เดวิด กอร์ดอน อดีตรองประธานสภาข่าวกรองแห่งสหรัฐ ชี้ว่า ชาติเอเชียรับฟังสหรัฐเรื่องหัวเว่ย ทว่าพวกเขามีข้อสรุปแตกต่างออกไป พวกเขาเพียงระมัดระวังในการใช้หัวเว่ย แต่จะไม่โยนทิ้งหรือแบนอย่างที่สหรัฐต้องการ เช่นเดียวกับ “คอลลิน โกะ สวี ลีน” นักวิจัยด้านนานาชาติศึกษาของสิงคโปร์ ชี้ว่าหลายประเทศในเอเชียมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอุปกรณ์หัวเว่ยก็จริง แต่พวกเขามีข้อพิจารณาที่ตั้งอยู่บนความจริง คืออุปกรณ์ของจีนราคาถูกและมีข้อเสนอที่น่าดึงดูดกว่า

ส่วน รูฟิโน โลเปซ รองผู้อำนวยการใหญ่สภาความมั่นคงแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าอุปกรณ์ของบริษัทอเมริกันอย่างแอปเปิล มีความเสี่ยงแบบเดียวกับหัวเว่ยหรือไม่ เราไม่สามารถมั่นใจอะไรได้อีกต่อไปแล้ว

สหรัฐไม่เพียงกดดันเรื่องหัวเว่ย แต่ยังกดดันไม่ให้เข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) จึงถูกชาติเอเชียตั้งคำถามว่าหากสหรัฐทำเช่นนี้ พวกตนจะสามารถยกระดับห่วงโซ่มูลค่า (value chain) เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร โดยในที่ประชุมนี้ตัวแทนจากสหรัฐ แพทริก ชานาแฮน รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ยังได้พยายามวาดภาพที่น่ากลัวของโครงการเส้นทางสายไหมที่สหรัฐอ้างว่าเป็นโครงการที่มาพร้อมกับการซ่อนเงื่อนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมติดอยู่ในกับดักหนี้ ต่างจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ของสหรัฐที่เปิดและให้เสรีภาพแก่ผู้เข้าร่วมมากกว่า

แต่เรื่องนี้หลายชาติเอเชียโต้ว่ากองทุนของสหรัฐไม่เพียงพอต่อความต้องการของพวกตน และมักพ่วงเงื่อนไขมากมาย อาทิ ถวง ตุ้น ที่ปรึกษาความมั่นคงของพม่า ระบุว่าจีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่เต็มใจสนับสนุนเงินทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมบนชายฝั่งพม่าใกล้กับบังกลาเทศ พร้อมกับปฏิเสธข้อสังเกตของสหรัฐที่อ้างว่าจีนจะทำให้ประเทศผู้กู้ตกอยู่ในภาวะหนี้ท่วม เพื่อจีนจะได้ประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์


แม้ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าความขัดแย้งของ 2 ยักษ์ใหญ่จะกินเวลานานเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเล็กเดือดร้อนหมด และคงยากที่ชาติเอเชียจะเดินตามสหรัฐทั้งหมด เพราะคงเป็นอย่างที่ลีนน์ กว็อก นักวิชาการศูนย์จีน พอล ไช่ แห่งมหาวิทยาลัยเยล ตั้งข้อสังเกตว่า ชาติในเอเชียมีความยืดหยุ่นและอยู่กับความจริง การไม่ประนีประนอมไม่เคยอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจะไม่ยอมเดินตามแนวทางแข็งกร้าว ไร้การประนีประนอมของสหรัฐ