“จี 20” ดันข้อตกลง “เก็บภาษียักษ์ดิจิทัล”

การประชุมร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ “จี 20” ณ เมืองสึกูบะของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8-9 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า ที่ประชุมยังได้หารือกันเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการปฏิรูปกฎหมายภาษีนิติบุคคล ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั่วโลก โดยเพิ่มอำนาจในการจัดเก็บภาษีให้กับประเทศที่บริษัทเทคโนโลยีเข้าไปให้บริการหรือจำหน่ายสินค้า แม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศก็ตาม ขณะที่กฎหมายปัจจุบันเปิดช่องให้บริษัทเทคโนโลยีไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจโดยตรง เนื่องจากการเก็บภาษีเป็นสิทธิของประเทศที่บริษัทได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไว้เท่านั้น

รวมถึงการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีต่างเลี่ยงการเสียภาษีสูงด้วยการบันทึกรายได้ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าหรือปลอดภาษี

ขณะที่ “ปาสกาล แซงต์-อามองส์” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการบริหารจัดการด้านภาษี ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ชี้ว่า การปฏิรูประบบภาษีจะทำให้หลายประเทศได้ประโยชน์ พร้อมยกตัวอย่าง “เน็ตฟลิกซ์” บริษัทสตรีมมิ่งที่มีฐานในสหรัฐอเมริกา แต่มีผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งประเทศอื่นไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ เพราะเน็ตฟลิกซ์ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศเหล่านั้น และการเก็บค่าบริการก็เป็นการโอนเงินออกไปต่างประเทศการปฏิรูประบบภาษีนี้อาจกระทบต่อประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนด้วยอัตราภาษีต่ำ

โดย “เจอราร์ด แบรดี” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสมาพันธ์ธุรกิจและนายจ้างไอริช (ไอบีอีซี) ระบุว่า ไอร์แลนด์มีอัตราภาษีเพียง 12.5% ดึงดูดให้บริษัทเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งหลายราย อย่าง “กูเกิล” และ “แอปเปิล” แต่หากกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ จะทำให้ไอร์แลนด์มีอัตราภาษีสูงขึ้น ซึ่งจะสูญเสียแรงดึงดูดนักลงทุน และมีรายได้ลดลงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ขณะที่ไทยเองก็มีความพยายามในการจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ โดยเฉพาะยักษ์โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ซึ่งหากมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีดังกล่าวโดยกลุ่มจี 20 ก็จะทำให้ไทยมีแนวทางในการเก็บภาษีที่ชัดเจนไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้นำประเทศกลุ่มจี 20 จะลงนามในข้อตกลงร่วมกันเพื่อการปฏิรูปภาษีภายในปี 2020 ซึ่งจะตามมาด้วยการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน คาดว่าต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ข้อตกลงครั้งนี้จะสัมฤทธิผลมากแค่ไหน