บาดแผล “สงครามการค้า” ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอย

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และบรรดา “มืออาชีพ” ในแวดวงตลาดการเงินระดับโลกทั้งหลาย มีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า สงครามการค้านั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอนในหลาย ๆ ด้าน และส่งเสียงเตือนเรื่องนี้มาโดยตลอดถึง “ความเสี่ยง” นี้ ซึ่งยิ่งหนาหูมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาถึงตอนนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกนั้น ไม่เพียงไม่ยุติลงในเร็ววันเท่านั้น ยังขยายตัวลุกลามออกไปเรื่อย ๆ ทั้งในทางกว้างและทางลึกข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นชัดว่า ปริมาณการค้าโลกกำลังชะลอตัว

แบบร่วงลงเฉียบพลันมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นสัญญาณที่แม้แต่หน่วยงานและตัวบุคคลในระดับผู้กำหนดนโยบายเริ่มแสดงท่าทีเห็นพ้องมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน หลังสุดก็คือการส่งสัญญาณจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้หลายคนตีความเอาว่า เฟด กำลังเตรียมลดอัตราดอกเบี้ยลง

ทำนองเดียวกันกับที่ผู้ว่าการธนาคารกลางของอีกหลายประเทศลงมือทำล่วงหน้าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่งอินเดียเจพี มอร์แกน หนึ่งในวาณิชธนกิจใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ออกมาแล้วว่า เฟด จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้

สัญญาณอีกอย่างก็คือ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงอย่างฮวบฮาบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา, ในเขตยูโรโซน เรื่อยไปจนถึงในอังกฤษ และยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายอยู่ต่อเนื่อง มีการปรับลดภาพรวมเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ธนาคารกลางแห่งยุโรป ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ต่อเนื่องต่อไปอย่างน้อยก็จนถึงกลางปี 2020

หลายคนพยายามคาดการณ์ถึงผลกระทบในที่สุดจากสงครามการค้า แต่ก็เจอกับปัญหาที่ว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยังยืดเยื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง จนยากที่จะคาดการณ์ได้ใกล้เคียงหรือแม่นยำ เพราะไม่รู้ว่าลำดับต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นตามมาอีก ในแง่ของผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งอยู่ในสถานะจำกัดสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะในเชิงลบ ยิ่งไม่ยอมชี้ชัดผลสะเทือนจากเหตุการณ์นี้ออกมา

คริสตีน ลาร์การ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกเพียงว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐนั้น ไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ในเวลาเดียวกันก็อดไม่ได้ที่จะย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เหมือน “บาดแผล” ที่เกิดจากการ “ทำร้ายตัวเอง” ด้วยแนวความคิดกีดกันทางการค้านั่นเอง ในขณะที่ภาคเอกชนซึ่งมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่า ชี้ให้เห็นถึงนัยสำคัญของ “สงครามการค้า” ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า ไม่ใช่สงครามการค้าตามนิยามที่พบเห็นกันทั่ว ๆ ไปแล้ว

นีล แมคคินนอน นักยุทธศาสตร์เศรษฐกิจมหภาคของโลกประจำ วีทีบี แคปิตอล ระบุเอาไว้ว่า ตอนนี้ในความคิดเห็นของบรรดานักลงทุนทั่วไป ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียวอีกแล้ว แต่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่ใหญ่กว่า ครอบคลุมกว้างขวางกว่า ซับซ้อนกว่า ของการช่วงชิงกันเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีของโลกในอนาคต

สงครามใหญ่ที่ว่านี้ สำหรับบรรดานักลงทุนแล้ว ไม่เพียงไม่ยุติลงได้อย่างง่าย ๆ เท่านั้น แต่ยังอันตรายสูงกว่าและมีความไม่แน่นอนอย่างยิ่งอีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี ธนาคารขนาดใหญ่ของอเมริกันอีกแห่ง พยายามมองให้เห็นอนาคตบางส่วนด้วยข้อมูลทั้งหลายเท่าที่มี ผลการคาดการณ์จากความพยายามนี้ก็ออกมาใกล้เคียงกัน

ซีซาร์ โรฮาส นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี ทำบันทึกถึงผู้ใช้บริการเมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานที่ผ่านมานี้ สอดคล้องกับทัศนะต่อความตึงเครียดทางการค้าที่ทางธนาคารยึดถือมานานว่า สงครามการค้ายังไม่ถึงจุดพีกสูงสุด และจะยังคงดำเนินต่อไปทั้งกับจีนและประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน

“สงครามการค้าระดับโลก” นั้น มีแนวโน้มสูงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องขนานใหญ่ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งโลกตกลงสู่สภาวะการเจริญเติบโตถดถอย”


นี่คือบทสรุปชัด ๆ ของกระแสกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นพรวดพราดในเวลานี้นั่นเอง