Worst Case สงครามการค้า “6 ยุทธวิธี” สหรัฐเล่นงานจีน

ต้องลุ้นกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เพราะล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาขู่แล้วว่าหากการประชุมกลุ่มประเทศ จี20 ที่ญี่ปุ่นปลายเดือนนี้ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ไม่มาพบปะตนเพื่อสานต่อการเจรจาปัญหาการค้า สหรัฐก็จะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ที่เหลืออยู่เป็น 25% ทันที และอาจเพิ่มมากกว่า 25% ก็เป็นได้

ท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์เช่นนี้ ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติ แต่ใช้วิธีข่มขู่ ประหนึ่งเห็นจีนเป็นลูกน้องใต้บัญชา นอกจากนี้ ถึงแม้สี จิ้นผิง จะยอมพบปะทรัมป์ที่ญี่ปุ่น ก็ไม่น่าที่จีนจะยอมตามเงื่อนไขของสหรัฐที่เสนอไว้จากรอบที่แล้ว ซึ่งมีลักษณะยื่นคำขาด อาทิ ให้จีนยกเลิกการอุดหนุนอุตสาหกรรมที่อยู่ในเป้าหมายของแผน “เมด อิน ไชน่า 2025” ทั้งหมด ต้องลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 1 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 12 เดือน ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนของบริษัทต่างชาติทั้งหมด เป็นต้น

คำขาดเช่นนี้ จีนไม่น่าจะยอมตามเนื่องจากเท่ากับยอมสละอธิปไตยและศักดิ์ศรีของประเทศที่มีเอกราชของตัวเอง จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตอบโต้กลับ แต่จะเป็นการตอบโต้ในระดับจำกัดเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น ไม่ใช่สร้างสงครามใหม่ให้ขยายตัวออกไป

หากพิจารณาบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน มีการประเมินว่าสหรัฐจะขยายสงครามการค้ากับจีนใน 6 รูปแบบ ประกอบด้วย

1.ทรัมป์จะเปิดศึกด้วยภาษีต่อไป 2.บีบให้บริษัทอเมริกันย้ายหนีออกจากจีน ขณะเดียวกันจะสร้างอุปสรรคไม่ให้บริษัทจีนลงทุนในสหรัฐ 3.สหรัฐจะพยายามตัดจีนออกจากห่วงโซ่มูลค่าโลก (global value chain หรือ GVC) โดยเริ่มจากการกำจัดบริษัทโทรคมนาคม ZTE และหัวเว่ย

ประการที่ 4.ใช้ปมค่าเงินเล่นงาน ด้วยการกล่าวหาว่าบิดเบือนค่าเงินหยวน 5.แซงก์ชั่นทางการเงินต่อบริษัทจีน แบบเดียวกับที่ทำกับบริษัทอิหร่านและรัสเซีย โดยอาศัยพลังอำนาจของค่าเงินดอลลาร์ที่ทรงอิทธิพลสุดในโลกเป็นอาวุธ ซึ่งเป็นกรณีที่น่ากลัวมากเพราะหากเป็นเช่นนั้นแทบจะไม่มีบริษัทต่างชาติใด ๆ กล้าทำธุรกรรมกับบริษัทจีน ไม่เช่นนั้นอาจถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำ 6.สหรัฐอาจจะไปไกลถึงขั้นยึดทรัพย์นอกประเทศของจีน รวมทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเท่ากับสหรัฐประกาศสงครามกับจีนโดยแท้จริง ไม่ใช่แค่สงครามการค้า

จากบทความนี้จะเห็นว่า ในมุมมองของจีนมีเพียงข้อเดียวที่สหรัฐไม่น่าจะดำเนินการคือข้อ 6 ส่วนอีก 5 ข้อที่เหลือนั้น มีทั้งที่ทำไปแล้วและมีความเป็นไปได้ที่จะทำ ซึ่งบทความนี้ได้เสนอคำแนะนำในการรับมือ เช่น การรับมือกับข้อ 2 ทางจีนจะต้องทำให้บริษัทอเมริกันในจีนรู้สึกสบายใจที่จะทำธุรกิจ แทนการทำให้ตกใจและหนีไป โดยให้ดูจากกรณีความสำเร็จของจังหวัดกวางตุ้ง ที่ถึงแม้จะมีบริษัทต่างชาติถอนตัวออกไป 2,200 แห่ง แต่กลับมีต่างชาติย้ายเข้ามาในปริมาณมากกว่าคือ 3,500 แห่ง

ส่วนการรับมือกับข้อที่ 3 นั้น จีนมี 3 ทางเลือก คือ 1.พึ่งพาตัวเองโดยสิ้นเชิงและตัดขาดจาก GVC 2.ยังคงอยู่ใน GVC และ 3.เป็นทางเลือกกึ่งกลางระหว่างข้อ 1 และ 2 ซึ่งเป้าหมายของสหรัฐนั้นต้องการบีบให้จีนเลือกข้อ 1 คือ ออกจาก GVC แต่จะมีผลเสียหนักต่อบริษัทสหรัฐอย่าง Qualcomm เพราะถ้าไม่มีจีนแล้ว คงยากที่จะหาลูกค้ารายอื่นมาซื้อผลิตภัณฑ์ของ Qualcomm คราวละมาก ๆ กรณีนี้หนทางดีที่สุดสำหรับจีนคือพยายามอยู่ใน GVC แต่ต้องเตรียมแผนสำรองไว้ด้วยแบบที่หัวเว่ยกำลังทำ

ส่วนการรับมือข้อ 5 ที่จีนเห็นว่าน่ากลัวที่สุดนั้น บทความนี้แนะนำไว้ว่าจีนควรใช้ blocking statute (รัฐบัญญัติขัดขวาง) แบบเดียวกับที่สหภาพยุโรปนำมาใช้ ซึ่งมีผลให้การแซงก์ชั่นทางการเงินของสหรัฐต่ออิหร่านเป็นโมฆะ เพื่อปกป้องบริษัทยุโรปให้สามารถทำธุรกรรมกับอิหร่านได้

พูดอีกอย่างก็คืออนุญาตให้บริษัทยุโรปไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐ