แผนปิด “ฮอร์มุซ” อิหร่านกุมชะตา “น้ำมันโลก”

ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่าง “อิหร่าน-สหรัฐอเมริกา” ยังคงสร้างความกังวลและกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบ ทำให้ราคาผันผวนต่อเนื่อง นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากคำขู่ของรัฐบาลเตหะรานที่จะปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” เกิดขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อตลาดน้ำมันโลกอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2018 ที่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ นำไปสู่การยกระดับมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงที่สุด คือ ตัดช่องทางรายได้หลัก

“การส่งออกน้ำมัน” ของอิหร่าน ทั้งกดดันให้ประเทศคู่ค้าหยุดการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านถาวรเหตุการณ์บานปลายลุกลามมาถึงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเตหะรานเตือนอีกครั้งว่า อาจตัดสินใจปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz) เส้นทางขนส่งน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก เพื่อตอบโต้ความเข้มข้นการแซงก์ชั่น ที่สหรัฐกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี “ฮัสซัน รูฮานี” แห่งอิหร่าน กล่าวไว้ว่า “ถ้าวันหนึ่งสหรัฐพยายามหยุดยั้งการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน เมื่อนั้นก็จะไม่มีน้ำมันส่งออกจากอ่าวเปอร์เซียอีกเลย” 

บลูมเบิร์ก รายงานว่า นายไบจาน นามเดอร์ ซานกาเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอิหร่าน กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ความฝันของสหรัฐที่พยายามกำจัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านให้เหลือ “ศูนย์” จะไม่มีทางเกิดขึ้น ขณะนี้อิหร่านกำลังหารือมาตรการอย่างจริงจังที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซ โดยอ้างความมั่นคงของน่านน้ำ

“ช่องแคบฮอร์มุซ” ซึ่งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ถือว่าเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบของโลกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเป็นเส้นทางเพื่อส่งออกน้ำมันดิบไปยังตลาดโลกมากที่สุดราว 35% ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ขณะที่อีก 4 เส้นทางขนส่งน้ำมันดิบอื่น ๆ อาทิ ช่องแคบมะละการาว 18% และคลองสุเอซและท่อส่งน้ำมันสุเมด 5% เป็นต้น

“ปีเตอร์ แซนด์” นักวิเคราะห์ของสมาคมการขนส่งระหว่างประเทศ (BIMCO) ระบุว่า สหรัฐกำลังทำให้อิหร่านไม่มีทางเลือก โดยบริเวณช่องแคบฮอร์มุซมีหลายประเทศที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ คูเวต อิรัก กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน รวมถึงสมาชิกกลุ่มโอเปกก็ต่างต้องใช้เส้นทางนี้เพื่อลำเลียงส่งออกน้ำมันดิบไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ซึ่ง “อินเดียและจีน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน

“แม้ว่าจะมีเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบทางอื่น แต่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในโลกอาหรับจำเป็นต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ การเลือกเส้นทางขนส่งที่ยาวกว่าเดิมจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการขนส่ง และอาจไม่สามารถป้อนปริมาณน้ำมันได้เท่าเดิม เพราะน้ำมันดิบจะถูกส่งเข้ามายังตลาดโลกล่าช้ากว่ากำหนด จนทำให้ไม่เพียงพอต่อดีมานด์การใช้น้ำมันของตลาดโลก” นักวิเคราะห์ของ BIMCO กล่าว

นักวิเคราะห์ของบีเอ็นเอ็นบลูมเบิร์ก ระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลต่าง ๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก โดยราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นจากวันที่ 14 มิ.ย. 2019 ขยับขึ้น 51 เซนต์ สู่ระดับ 52.79 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 62.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ในวันที่ 17 มิ.ย. 2019 เพิ่มขึ้นอีก 14 เซนต์

ทั้งทำนายว่า หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด และสถานการณ์ยังยืดเยื้อ จากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับ “ฟอกซ์นิวส์” ระบุว่า ตนเชื่อว่าอิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซได้เพียงระยะสั้น เพราะอิหร่านก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และอาจดันราคาน้ำมันดิบโลกให้พุ่งขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์/บาร์เรล

ในน่านน้ำอาหรับยังตึงเครียด รายงานของบีเอ็นเอ็นบลูมเบิร์ก ชี้ว่า ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้บวกความไม่แน่นอนของแผนปิดช่องแคบฮอร์มุซ อาจทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงปลายเดือน มิ.ย.นี้ จากแถลงการณ์เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา