ปัญหาหนี้ “อิตาลี” กำลังย่างสู่ภาวะวิกฤต

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพโรจน์ พงศ์พานิชย์

อิตาลีมีปัญหาหนี้มานานแล้ว มีมาตั้งแต่เกิดกรณีวิกฤตหนี้ที่กรีซ ซึ่งเป็นวิกฤตหนี้สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกในกลุ่มประเทศยูโรโซน ตอนนั้นคาดการณ์กันว่าลำดับถัดไปจากกรีซก็อาจเป็นอิตาลีหรือไม่ก็สเปน และอาจเป็นโปรตุเกสที่มีปัญหาอยู่ในทำนองเดียวกัน

สเปนและโปรตุเกสดิ้นหนีจากวิกฤตหนี้มาได้เป็นอย่างดี แต่อิตาลีไม่ใช่ หนี้สินของอิตาลียังเป็นปัญหาคาราคาซังมานับตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็คือ ประคองไม่ให้ทรุดหนักจนเป็นวิกฤตหนี้เหมือนกับที่กรีซเคยเป็นมาแต่ดูเหมือนว่าภาวะ “ประคอง” ที่ว่านั้นกำลังจะมาถึงสุดทางแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักรวมทั้งทีเอส ลอมบาร์ด บริษัทการเงินในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฟันธงลงมาแล้วว่า วิกฤตหนี้หนที่สองของยูโรโซนกำลังจะเกิดขึ้นที่อิตาลี ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเมื่อใดเท่านั้นเอง ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภาวะหนี้ของอิตาลี ก็คือ สัดส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอิตาลีเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 132.2 เปอร์เซ็นต์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กับอีกหลายสถาบันระหว่างประเทศ ประเมินไว้ใกล้เคียงกันว่า ถึงปี 2020 คือปีหน้านี้สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีของอิตาลีจะเพิ่มขึ้นเป็น 135 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าหนี้สินของอิตาลีเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์แล้ว ติดอันดับ 4 ของโลก มีประเทศที่มีหนี้คิดเป็นเม็ดเงินมากกว่าอิตาลีอยู่เพียง 3 ชาติเท่านั้น หนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา ต่อด้วยญี่ปุ่น และจีน

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง 3 ประเทศดังกล่าวกับอิตาลีคือหัวใจสำคัญของปัญหาหนี้สินที่นั่น นั่นคือฝ่ายการเมืองอิตาลี ไม่เคยคิด ไม่เคยพยายามที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบริหารจัดการหนี้สินของตนเองเลย ต่างกับการดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน ซึ่งแม้จะแตกต่างกันออกไปใน 3 ประเทศดังกล่าว แต่ก็สะท้อนเจตนาของความพยายามอย่างเต็มที่

วิธีแก้ปัญหาหนี้ที่เป็นแบบฉบับมาตรฐานซึ่งใช้กันทั่วโลกมีอยู่ 3 ทางด้วยกัน น่าเศร้าที่แคปิตอลอีโคโนมิกส์ บริษัทเพื่อการวิจัยทางการเงินในลอนดอนบอกว่า ทั้ง 3 ทาง “เป็นไปไม่ได้” ในอิตาลี ทางแรกที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กัน เมื่อเผชิญกับปัญหาหนี้สินก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อดิ้นให้หลุดจากกับดักหนี้

ถ้าอิตาลีต้องการใช้วิธีนี้แค่เพื่อ “ยับยั้ง” ไม่ให้ระดับหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต้องทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวให้ได้มากกว่าจีดีพีที่คาดหวังกันไว้ 0.7 เปอร์เซ็นต์ทุกปี หรือต้องขยายตัวราว 1.3 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ยากเย็นอย่างยิ่ง เทียบได้กับการขอพรจากพระเจ้ายังไงยังงั้น เหตุผลก็เพราะ แม้แต่ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นช่วงระหว่างปี 1999-2007 จีดีพีของอิตาลีก็ยังขยายตัวเพียงแค่ 1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นอัตราเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิตาลีนับตั้งแต่ปี 1999 เรื่อยมาจนถึงขณะนี้อยู่ที่ 0.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ทางที่สองก็คือ หากหารายได้เพิ่มไม่ได้ก็ต้องลดหนี้ด้วยการ “รัดเข็มขัด” ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลอิตาลีทุกยุคทุกสมัยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องการทำ ไม่อยากทำ และไม่สนใจที่จะทำ งบประมาณของอิตาลีในช่วง 25 ปีหลังเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลมากถึง 23 ปี โดยไม่สนใจที่จะพยายามดึงเอาระดับหนี้ให้ลดลงมาแต่อย่างใด

ทั้งสิ้นหนทางสุดท้ายที่ทำกันเพื่อแก้หรือบรรเทาปัญหาหนี้สินก็คือ ปล่อยให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อนั้นมีผลทั้งทางบวกและทางลบ ผลในทางบวกอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้มูลค่าของหนี้ลดลง เพราะหนี้สินยังคงอยู่เท่าเดิมในสัญญา แต่มูลค่าของเงินลดลงเพราะเงินเฟ้อ ปัญหาก็คือ อิตาลีไม่สามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน ที่มีธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) เป็นผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน

อีซีบีไม่มีวันยอมให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมาก ๆ ที่จะส่งผลในทางลบต่อสมาชิกที่เหลือทุกประเทศในยูโรโซนเพียงเพื่อแก้ปัญหาหนี้ให้กับอิตาลีอย่างแน่นอน

สุดท้ายแล้วอิตาลีก็จะเหลือทางเลือกอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้นในการแก้ปัญหาหนี้ของตนเองอย่างขนานเบาก็คือ “ปรับโครงสร้างหนี้” รุนแรงหน่อยก็ “พักชำระหนี้” หรือไม่ก็อาจเกิดขึ้นพร้อมกับทั้ง 2 อย่างภายใต้การกำกับดูแลและให้เงินพยุงสถานะของไอเอ็มเอฟ หนี้ในอิตาลีกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต และกำลังจะจำแลงแปลงเป็น “สึนามิทางการเงิน” ที่จะส่งผลทำลายล้างของมันแผ่ออกไปผ่านตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก

ครั้งนี้ หนักหนาสาหัสกว่ากรณีที่กรีซไม่น้อยกว่า 10 เท่า เพราะขนาดเศรษฐกิจของอิตาลีใหญ่กว่ากรีซถึง 10 เท่านั่นเอง