“ญี่ปุ่น” คุมเข้มส่งออกอุปกรณ์ไฮเทค “เกาหลีใต้” ตอบโต้กรณีพิพาทสองชาติ

(AP Photo/Koji Sasahara)

สำนักข่าวเจแปนทูเดย์รายงานว่า ทางการญี่ปุ่นได้เพิ่มมาตรการควมคุมการส่งออกอุปกรณ์เทคโนโลยีไฮเทค รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตให้กับบริษัทของเกาหลีใต้ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ภายหลังจากข้อพิพาทระหว่างสองชาติ อันเนื่องมาจากการที่ศาลเกาหลีใต้ตัดสินให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยแก่แรงงานเกาหลี ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

นายโยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีขึ้นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ไม่ใช่เพียงการตอบโต้เกาหลีใต้ อีกทั้งมาตรการนี้ไม่ได้ขัดต่อหลักการค้าเสรีหหรือกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่อย่างใด

ซูกะยังกล่าวด้วยว่า เกาหลีใต้ไม่ได้แสดงทางออกที่น่าพอใจเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องแรงงานในอดีต ก่อนการปะชุม G20 ที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในวันที่ 28-29 มิ.ย. ที่ผ่านมา “เราอดไม่ได้ที่จะกล่าวว่า ความไว้วางใจของเราถูกทำลายลงอย่างรุนแรง”

มาตรการดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยบริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิตและส่งออกสารฟลูออริเนตพอลิอิมิดส์ (Fluorinated Polyimide) สารไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (Hydrogen Fluoride) และตัวต้านทานกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิปและจอแสดงผลสำหรับสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์นั้น จะต้องมีใบอนุญาตในการส่งออกไปยังบริษัทของเกาหลีใต้

นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกำลังเตรียมที่จะถอนชื่อของประเทศเกาหลีใต้ออกจาก “บัญชีขาว” (white list) ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกประเมินว่า ไร้ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อญี่ปุ่นและได้สิทธิพิเศษในการส่งออก

มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทเทคโนโลยีของเกาหลีใต้อย่าง “ซัมซุง” เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ส่งออกของญี่ปุ่นเองด้วย

ขณะที่นายซัง ยุน มู รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้จะนำมาตรการที่เข้มงวดของญี่ปุ่นนี้เข้าสู่การพิจารณาของ WTO ว่าขัดต่อหลักการค้าเสรีหรือไม่

ภาพลี ชุน-ซิก (กลาง) วัย 94 ปี หนึ่งในผู้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองเกาหลี (AP Photo/Lee Jin-man, File)

ทั้งนี้ ข้อพิพาทระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นในปี 2018 หลังที่ศาลของเกาหลีใต้ตัดสินให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ ที่ถูกบริษัทญี่ปุ่นบังคับใช้แรงงานในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปกครองคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี 1910-1945 แต่บริษัทญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทำให้ศาลเกาหลีใต้มีคำสั่งยึดทรัพย์บริษัทญี่ปุ่น

ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลทั้งสองชาติ ซึ่งญี่ปุ่นมีความพยายามจะเจรจาทวิภาคีเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แต่ล้มเหลวเนื่องจากเกาหลีใต้ไม่ร่วมเจรจา ขณะที่ีความพยายามจัดตั้งอนุญาโตตุลาการก็ล้มเหลวด้วยเช่นเดียวกัน ล่าสุดในเดือน มิ.ย. เกาหลีใต้ได้เสนอให้บริษัทของทั้งสองประเทศจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เสียหาย แต่ญี่ปุ่นได้ปฏิเสธของเสนอดังกล่าวทำให้กรณีพิพาทนี้ยังคงไม่จบลงจนถึงขณะนี้