“ยูนุส” กับ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ความสุขที่ยิ่งกว่ากำไรของนักธุรกิจ

มูฮัมหมัด ยูนุส

ปัญหาความยากจนในโลกปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคในการเข้าถึงทุนของคนยากจนเพื่อที่จะนำมาพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการกู้ยืมนอกระบบดอกเบี้ยสูงตอกย้ำให้ผู้ยากไร้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจน ภาคธุรกิจในหลายประเทศได้ตระหนักและสนใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยแนวทาง “ธุรกิจเพื่อสังคม” (social business)

เมื่อวันที่ 27-28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน Social Business Day ครั้งที่ 9 โดย ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศร่วมกับองค์กรภาคี ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจาก 58 ประเทศทั่วโลก เป็นครั้งแรกที่จัดในไทย โดยความร่วมมือของศูนย์ยูนุส ธากา สำนักงานใหญ่บังกลาเทศ และศูนย์ยูนุส สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ร่วมกับซีอาเซียน และศูนย์ยูนุสธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (TSBI)

ศ.ยูนุสเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมหรือการทำธุรกิจที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่กำไรสูงสุด แต่อยู่ที่การสร้างประโยชน์สังคม ตามหลักการ “สามศูนย์” (three zeros) คือความยากจนเป็นศูนย์ อัตราการว่างงานเป็นศูนย์ และการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

ตามแนวคิดดังกล่าว ศ.ยูนุสได้ก่อตั้ง “ธนาคารกรามีน” เพื่อช่วยเหลือคนยากจนด้วยการให้สินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ “สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์” เป็นการเปิดโอกาสทำให้คนยากไร้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน จนทำให้ ศ.ยูนุสได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2006

ปัจจุบันธนาคารกรามีนประสบความสำเร็จอย่างสูง นับแต่ก่อตั้งได้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 26,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่สมาชิก 9 ล้านคนใน 2,568 สาขาทั่วบังกลาเทศ เฉพาะในปี 2018 มีการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ยากไร้สูงถึง 2,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกรามีนเป็นตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับแนวคิดของงาน Social Business Day ครั้งนี้ คือ “Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happi-ness” (การทำเงินเป็นความสุข แต่การทำให้ผู้อื่นมีความสุขเป็นความสุขยิ่ง) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมย่อมได้รับความสุขมากกว่าการแสวงหาแต่เพียงกำไรสูงสุด

“ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า เงินเท่ากับความสุข ผมคิดว่านั่นเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะความสุขไม่ใช่แค่มีเงินมากมาย แต่ความสุขคือความรู้สึกคุ้มค่าที่จะมีชีวิตอยู่” ศ.ยูนุสกล่าว

ภายใต้แนวคิดนี้ ศ.ยูนุสมองว่า ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันละเลยความเป็นมนุษย์ ดังนั้น การทำ “ธุรกิจที่มีความเป็นมนุษย์” คือ การแสวงหากำไร แต่ขณะเดียวกันก็แบ่งปันสังคมและสร้างความสุขให้กับผู้อื่น ให้กลายเป็น “ความสุขยิ่ง” (super happiness) ของผู้ทำธุรกิจเอง

แม้ว่าธุรกิจเพื่อสังคมจะมีความท้าทายอย่างความเสี่ยงที่จะไม่ได้กำไรอย่างการให้สินเชื่อแบบไร้หลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งอาจทำให้เกิดหนี้เสีย แต่กลไกทั้งการปล่อยกู้แบบกลุ่มและการให้สิทธิประโยชน์ในการถือหุ้นธนาคารทำให้ปัญหาหนี้เสียเกิดน้อยมาก ศ.ยูนุสยังเชื่อว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักค้ำประกันที่ดีสุดที่ทำให้ธนาคารกรามีนมีอัตราการชำระหนี้คืนสูงถึง 98%

ขณะที่ความท้าทายด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ศ.ยูนุสชี้ว่า “เทคโนโลยีไม่เป็นปัญหาต่อแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมเลย ในทางกลับกันเทคโนโลยีจะเป็นส่วนช่วยเราบรรลุผลลัพธ์ได้เร็วมากยิ่งขึ้นด้วย”

ในงานนี้ได้มีการอภิปรายทั้งเรื่องการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว วัฒนธรรม กีฬา กิจการขนาดใหญ่ เทคโนโลยี และภาวะผู้นำเยาวชน

ศ.ยูนุสเน้นย้ำถึงความร่วมมือขององค์กรระดับโลกในการผลักดันความร่วมมือธุรกิจเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นจริง อย่างเช่น ศูนย์ยูนุสปารีส ที่ร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จัดเตรียมงานโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิก ที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 2024 โดยตั้งเป้าจะใช้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมในการจัดงานให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ในปีนี้ยังได้มีการประกาศเปิดตัวองค์กรเครือข่ายอีก 2 แห่ง คือ “Yunus and Yoshimoto Social Action” ซึ่งเป็นการร่วมมือกับบริษัทบันเทิงของญี่ปุ่นในการกระจายองค์ความรู้ด้านธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงสนับสนุนและจับคู่ทางธุรกิจทั้งในและนอกญี่ปุ่น

และอีกแห่งในไทยคือ “Yunus Thailand & Corporate Action Tank” โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจรายใหญ่ของไทย อย่างซีอาเซียนและเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อเป็นองค์กรสำหรับพัฒนาและเผยแพร่ แลกเปลี่ยนแนวคิดและดำเนินกิจกรรมตามแนวทางธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

“ประเทศไทยจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นศูนย์กลางอันดับต้น ๆ ของการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม” ศ.ยูนุสกล่าว