ฮับการเงิน “ฮ่องกง” ระส่ำ ธุรกิจเล็งย้ายไปสิงคโปร์

นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นมา การประท้วงใน “ฮ่องกง” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จนต้องยุติการพิจารณาร่างกฎหมายชั่วคราว ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงกดดันให้ “แครี ลัม” ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ลาออกจากตำแหน่งและให้ฉีกร่างกฎหมายนี้ทิ้ง

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนในฮ่องกงที่มากขึ้นกำลังสร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ ในฐานะที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของเอเชีย ซึ่งขณะนี้กลุ่มบุคลากรทักษะสูง เช่น นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ ของสถาบันการเงินหลายแห่งในฮ่องกง กลายเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

หนึ่งในนั้นก็คือ “เคลวิน ลัม” นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการลงทุนของต่างประเทศในฮ่องกง กล่าวว่า ตนและเพื่อนนักการเงินนักวิเคราะห์อีกหลายคนกำลังเดือดร้อน เพราะไม่มีอิสรภาพในการทำงานจากที่ไม่สามารถวิเคราะห์หรือวิจารณ์เศรษฐกิจของจีน บนพื้นฐานตามความเป็นจริงได้ทั้งหมด

“เป็นช่วงเวลาการหางานอีกครั้ง เพราะความเสี่ยงที่จะทำงานในฮ่องกงมีมากขึ้น ซึ่งตำแหน่งงานในโตเกียวและสิงคโปร์ ถือว่าเป็นเป้าหมายต้น ๆ เพราะต่างก็เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของเอเชีย” เคลวิน ลัม กล่าว

ขณะที่ “รอยเตอร์ส” ระบุว่า บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุนต่างชาติบางราย เริ่มประเมินผลกระทบและวางแผนเตรียมย้ายบริษัทไป “สิงคโปร์” หากได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าสิงคโปร์มีประสิทธิภาพในการพิจารณาคดี และรัฐบาลมีความซื่อตรงมากกว่า เมื่อเทียบกับฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่บริษัทก็ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการลงทุนของลูกค้า

รายงานของนิกเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่านักวิเคราะห์ในฮ่องกงกังวลว่า การประท้วงต่อต้านจะลากยาวไปอีกหลายปี เพราะคณะกรรมการบริหารสูงสุดในฮ่องกง ควบคุมปัญหาเพียงระงับการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน และไม่มีคำมั่นว่าจะถอดถอนตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งผู้นำยังไม่มีท่าทีจะยอมลงจากตำแหน่งง่าย ๆ

ศาสตราจารย์ไซมอน ยัง จากมหาวิทยาลัยกฎหมายฮ่องกง ระบุว่า การร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลจีนสามารถเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของฮ่องกงได้ จีนจะใช้กฎหมายนี้เพื่อจัดการกับผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลจีนในฮ่องกงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ย. 2018 หน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ชั้นนำของจีน (CSRC) ให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสิบคนลงนามข้อตกลงเรื่อง “วินัยในตัวเอง” (self-discipline agreement) เพื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐเมื่อต้องเขียนรายงานการวิจัย

นอกจากนี้ ความกังวลในฮ่องกงยังครอบคลุมไปถึงเรื่องข้อตกลงระหว่างจีนกับอังกฤษภายใต้กรอบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” โดยจีนให้อังกฤษเช่าพื้นที่ส่วนเหลือของเกาะฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี เรียกว่าเป็นเขตดินแดนใหม่ (new territories) โดยจะหมดสัญญาในปี 2047

ปัจจัยที่สร้างความวิตกเหล่านี้ ไม่ได้เกิดแค่กลุ่มธุรกิจการเงิน แต่ภาคธุรกิจอื่นก็เริ่มสั่นคลอนจากสถานะของฮ่องกงที่จะตกไปเป็นของจีนแบบ 100% “คาร์สัน บล็อก” ผู้ก่อตั้งและนักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทวิจัย Muddy Waters ในซานฟรานซิสโก สำรวจร่วมกับหอการค้าธุรกิจอเมริกันในฮ่องกง ชี้ว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสมาคมกว่า 3,000 ราย  “กังวลต่อร่างกฎหมายและคิดว่าจะกระทบต่อภาคธุรกิจ”

ขณะที่ 72% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามระบุ บริษัทสัญชาติต่างประเทศในฮ่องกงอาจจะย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากฮ่องกง และชาติที่จะได้เปรียบ คือ “สิงคโปร์”

“เฟรดดี ว่อง คิน-ยิบ” ประธานบริษัท Midland Holdings ตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในฮ่องกง ชี้ว่าความเคลื่อนไหวในตลาดอสังหาฯ ในช่วง 8 มิ.ย.-18 มิ.ย. อยู่ในภาวะ “เกือบชะงัก” เพราะยอดขายบ้านใหม่ลดลงกว่า 60% เทียบกับเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ประธานสมาคมธุรกิจฮ่องกงกล่าวว่า ผลสำรวจเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงได้สูญเสียตำแหน่ง “ศูนย์กลางทางการเงินและลงทุนแห่งเอเชีย” ให้กับสิงคโปร์ ในขณะที่ฮ่องกงพยายามทวงคืน แต่สถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้ “ฮ่องกง” เสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งแบบถาวร และหากไม่สามารถยุติความวุ่นวายก็เสี่ยงจะลุกลามถึงขั้น “ชัตดาวน์เศรษฐกิจฮ่องกง”