Grab รุก “ดิจิทัลแบงกิ้ง” แต่งตัวก่อนขายหุ้น “IPO”

“แกร็บ” (Grab) สตาร์ตอัพสัญชาติสิงคโปร์ที่เริ่มจากการสร้างธุรกิจให้บริการรูปแบบ ride sharing ในปี 2012 ปัจจุบันขยายการให้บริการที่ครอบคลุมบริการส่งสินค้าและอาหาร รวมถึงแพลตฟอร์มเพย์เมนต์ และล่าสุดแกร็บกำลังขยายบริการทางการเงินครั้งใหญ่ ด้วยการขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการ “ดิจิทัลแบงกิ้ง ในสิงคโปร์

เดอะสเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศเกณฑ์ใหม่ในการอนุญาตให้ธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจัดตั้ง “ธนาคารดิจิทัล” จำนวน 5 ใบอนุญาต แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต สำหรับบริษัทที่ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อย และอีก 3 ใบอนุญาตสำหรับบริษัทปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ไม่ใช่ค้าปลีก

บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถให้บริการโดยไม่จำเป็นต้องมีสาขาธนาคารในรูปแบบเดิม ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลดลง รวมทั้งทำให้ค่าธรรมเนียมลูกค้าลดลงไปด้วย เรียกว่าเป็นการ “เปิดเสรีทางการเงิน” ที่สั่นคลอนธุรกิจการเงินของสิงคโปร์ครั้งใหญ่

ขณะที่มีหลาย ๆ บริษัทให้ความสนใจ โดยเฉพาะ “สิงเทล” ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของสิงคโปร์ และ “เรเซอร์” ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เกม รวมทั้ง “แกร็บ”

“รูเบ็น ไล” กรรมการผู้จัดการอาวุโส “แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ระบุว่า “เรากำลังศึกษาข้อกำหนดของการขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารดิจิทัลอย่างละเอียด รวมถึงพิจารณาการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสมกับพันธมิตร ซึ่งจะเปิดกว้างว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด”

ปัจจุบันแกร็บได้ให้บริการทางด้านการเงินผ่านแพลตฟอร์ม “แกร็บเพย์” ใน 6 ประเทศอาเซียน โดยได้รับความนิยมสูงสุดใน “มาเลเซีย” ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 30% ของผู้ใช้บริการทางการเงินออนไลน์ในมาเลเซีย

ขณะที่ “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า แกร็บเพิ่งได้ระดมทุนเพิ่มอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทลงทุนสหรัฐ “อินเวสโก” (Invesco) โดย “หมิง หม่า” ประธานบริหารของแกร็บระบุว่า บริษัทจะนำเงินไปขยายบริการทางการเงินและธุรกิจบริการขนส่ง

“ซาชิน มิทเทิล” นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยี ธนาคารดีบีเอส (DBS) ของสิงคโปร์ ชี้ว่า การแข่งขันของธุรกิจบริการคมนาคมขนส่งผ่านแอปพลิเคชั่นในภูมิภาคอาเซียนที่รุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจทำกำไรได้ยาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายบริษัทต้องพยายามหาช่องทางในการใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้า เพื่อขยายการให้บริการในด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ธุรกิจการเงินเต็มตัวของแกร็บยังคงมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งการแข่งขันกับธนาคารแบบดั้งเดิมในสิงคโปร์ ที่มีการปรับตัวมาเป็นดิจิทัลแบงกิ้งเต็มรูปแบบ

แม้แกร็บจะเป็นเจ้าตลาดในอาเซียนด้วยเงินสนับสนุนจากบริษัทลงทุนหลายแห่ง เช่น “ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป” ของญี่ปุ่น แต่ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่หลายเจ้าอย่าง “โก-เจก” (Go-Jek) ของอินโดนีเซีย ที่กำลังทุ่มทุนเพื่อแข่งขันในธุรกิจบริการขนส่งรูปแบบใหม่นี้เช่นกัน

“ปิยุช คุปตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารดีบีเอส ระบุว่า ธนาคารของสิงคโปร์ยังคงมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ธนาคารกลางสิงคโปร์พิจารณาถึง “ข้อกำหนดด้านเงินทุนและสภาพคล่อง” ของคู่แข่งหน้าใหม่ ที่ควรอยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับธนาคาร

ขณะที่ “เอมีร์ เฮิร์นจิก” นักวิจัยอาวุโสของสำนักวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า ยังมีความท้าทายในอนาคตของธนาคารดิจิทัล จากการเตรียมเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล “ลิบรา” (Libra) ของเฟซบุ๊ก “หากลิบราสามารถให้บริการทางการเงินด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ก็จะมีศักยภาพที่จะเป็นคู่แข่งได้”

อีกทั้งเฟซบุ๊กยังเข้าถึงผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า จากการสำรวจของ “วีอาร์โซเชียล” และ “ฮุตสวีต” (Hootsuite) ระบุว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์ถึง 82% ใช้งานเฟซบุ๊ก และ 81% ในอินโดนีเซียลิบราจึงอาจเป็นความท้าทายสำหรับแกร็บในอนาคต เ

ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้ ลิบราในการเข้าถึงบริการทางการเงินของโลก ซึ่งอาเซียนมีประชาชนหลายร้อยล้านคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย” เฮิร์นจิกกล่าว

แผนการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินของแกร็บ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสนอขายหุ้นให้ประชาชน (IPO) ขณะที่คู่แข่งที่ขายหุ้นไอพีโอไปก่อนหน้า ทั้งอูเบอร์ (Uber) และลิฟต์ (Lyft) ไม่สามารถทำกำไรได้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักลงทุนยังคงจับตามองการเปิดเผยผลประกอบการของแกร็บอย่างใกล้ชิดว่าจะแตกต่างจากคู่แข่งหรือไม่